3 ปี กับ Solar Cell แบบลื่นไหลปรู๊ด ๆ

By Arnon Puitrakul - 05 มกราคม 2024

3 ปี กับ Solar Cell แบบลื่นไหลปรู๊ด ๆ

ในที่สุด ระบบ Solar Cell ของเราก็เดินทางมาถึงปีที่ 3 แล้วละ ปีนี้โดยรวมเป็นปีที่ เราไม่เจอปัญหาอะไรกับระบบเลย หลังจากที่ปีก่อน ASolar เข้ามาจัดการลงแผงใหม่ ก็ยังไม่เจอปัญหาอะไร (เพราะยังไม่ได้ไล่เช็คหลังจากนั้น แต่เราเดาว่า ณ วันที่เขียน น่าจะมีบ้างแหละ) ส่วน Optimiser ที่ติดเพิ่มเข้ามา ข้อมูลในปีนี้น่าจะพอตอบคำถามนี้ได้คร่าว ๆ แล้วละ เรามาดูกันดีกว่า ว่ามันยังทำให้เราคืนทุนได้ในระยะเวลาเท่าเดิมหรือไม่

Performance Analysis ระบบ 1

เราเริ่มจาก การผลิตในแต่ละปี เราจะเห็นว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา เราผลิตได้มากกว่าปี 2021 ที่เป็นเต็มปีแรกของการติดตั้ง จาก 6.26 MWh ในปี 2021 เป็น 6.40 MWh ในปี 2023 ทำให้เอ๊ะใจมา ๆ ว่า มันเกิดอะไรขึ้น

เพราะอย่างที่เราเล่าให้อ่านก่อนหน้า ในต้นปี 2022 เราพบว่ามันมีแผงไหม้ นั่นแปลว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ไหม้มาตั้งแต่ปี 2022 แต่มันเริ่มจริง ๆ สักวันนึงในปี 2021 ทำให้จริง ๆ แล้วเราตีคร่าว ๆ ได้เลยว่า 2021 เป็นปีที่เสียทั้งหมดเลย แล้วกลายเป็นว่าปี 2023 มันได้มากกว่าปี 2021 หน่อยเดียวเองเหรอ มันแปลก ๆ เหมือนกัน

แล้วเมื่อเราเทียบกับปี 2022 ที่เราเปลี่ยนแผงไป เราได้มา 6.69 MWh หรือมากกว่าอยู่ประมาณ 4% กลับกันก็คือ ปี 2023 ประสิทธิภาพตกลงไปถึง 4.46% ซึ่งมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 0.4-1% ถือมากกว่าพอสมควรเลยทีเดียว เราไม่แน่ใจว่า มันเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แดดน้อยกว่าปีก่อน หรือเป็นเพราะ ระบบมีปัญหา หรือ เป็นเพราะประสิทธิภาพแผงมันตกกันแน่ การที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราว่าน่าจะต้องรอให้เรามีข้อมูลมากกว่านี้ แล้วเราจะได้เริ่ม Plot อัตราประสิทธิภาพจริง เทียบกับที่เราประมาณการณ์ไว้ทีหลังได้

หรือจริง ๆ แล้วเกิดจากข้อมูลของปีที่แล้ว โดยเฉพาะเดือนมีนาคม มีความผิดพลาด โดยมันแปลกมาก ๆ ที่เดือน ๆ นึงระบบ 5 kWp จะสามารถทำได้ 901.8 kWh มันพอ ๆ กับสองระบบรวม ๆ กันแล้ว ถ้าเราคำนวณใช้ชั่วโมงแดด 4 ชั่วโมงเยอะมาก ๆ ไปเลย เราจะได้อยู่เดือนละ 600 kWh เท่านั้นเอง แต่มันกดไป 900 kWh เราว่ามันแปลกมาก ๆ แต่ถ้าเราเอา ข้อมูลของเดือนมีนาคมปี 2021 และ 2023 มาหาค่าเฉลี่ยเพื่อ Impute ข้อมูลเข้าไป จะทำให้ทั้งปี 2023 จะเหลืออยู่ประมาณ 6.1 MWh เท่านั้น เราคิดว่า อันนี้แหละน่าจะ Make Sense กว่าเดือนละ 901.8 kWh มาก ๆ เลยละ

หากเราประมาณการณ์ลักษณะนี้ จะทำให้ปี 2023 ประสิทธิภาพของระบบ 1 ดีขึ้นมาประมาณ 0.3% เรื่องนี้เราอธิบายได้ เพราะก่อนหน้านั้น หลังจากเราเจอว่าแผงมันมีรอยไหม้แล้ว เราให้เพื่อนถอดแผงทางทิศเหลือออกจากระบบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และในปี 2023 เราให้เพื่อนเข้ามาย้ายแผงที่ถอดออก ไปใส่ทางทิศตะวันตก และ ทิศตะวันออก จนเหลือแผงเปล่า ๆ แผงนึง ทำให้จริง ๆ แล้วปี 2023 เรามีแผงเพิ่มขึ้น 2-3 แผง เมื่อรวมกับความเสื่อมแล้ว การจะได้เพิ่มเข้ามา 0.3% ก็ถือว่าดีมาก ๆ แล้วละ

หากเรามาดูในระดับเดือนเทียบกับอีก 2 ปีที่ผ่านมา (เว้นปี 2020 สีฟ้า) แนวโน้มที่เห็น ระบบผลิตได้เยอะขึ้นในช่วงต้นปีอย่าง เดือน 1-2 แล้วตกหมดไปดีกว่าปีก่อนหน้าช่วงเดือน 11-12 ไปเลย ระหว่างน้ันก็ยังถือว่าสูสีกับปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาอยู่ แต่เราว่ามันยังมองเห็นอะไรไม่เยอะเท่าไหร่ เลยยังไม่อยากสรุปอะไรกับข้อมูลชุดนี้มากนัก ยิ่งเป็นปีแรกที่เราไม่ได้ทำอะไรกับแผงมากเท่าไหร่ด้วย อยากรอดูข้อมูลในอีกสัก 2-3 ปี เราว่าน่าจะเริ่มเห็น Trending Line ว่า มันได้พลังงานตกไปเร็วขนาดไหน มันจะเร็วกว่ามาตรฐานได้ขนาดไหน เอาเข้าจริง อัตราการลดมันอาจจะไม่ได้เป็น Linear ด้วยซ้ำ รอดูอย่างเดียวละกันว่ามันจะไปทางไหนยังไง หากเราไม่ทำอะไรเลย

Performance Analysis ระบบ 2

เราเริ่มด้วย การผลิตในแต่ละปี เราจะเห็นว่า เห้ย ทำไมพลังงานที่ผลิตได้มันเด้งขึ้นมาเท่าตัวเลย จริง ๆ ต้องบอกว่า ระบบมันเริ่มเดินในเดือน 5 ของปี 2022 ดังนั้นข้อมูลในปี 2022 มันเป็นข้อมูลไม่เต็มปี ทำให้มันค่อนข้างต่างจากปี 2023 ประมาณ 45.23% จากปีก่อนหรือ 3.27 MWh เป็น 5.97 MWh เราคิดว่าจะเอาปริมาณพลังงานที่ผลิตตัวนี้แหละ เป็น Gold Standard ว่า ระบบ 2 ต้องผลิตได้น้อยกว่า หรือใกล้ ๆ กับกำลังการผลิตของปี 2023 เนื่องจาก ระบบมันต้องมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลากันบ้างแหละ แต่ต้องรอดูแหละว่าจะเด้ง ๆ เหมือนระบบ 1 หรือไม่

เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่ระบบ 2 ได้เดินเครื่องเต็มปี เรามาดู Character การผลิตของระบบแต่ละเดือนที่เราได้มาก่อนดีกว่า ดูผ่าน ๆ เราจะเห็นว่า มันจะมีแค่ 4 เดือนที่เป็นหลุม ๆ คือ Jun-Jul และ Oct-Nov อันนี้เราว่ามันแปลก ๆ นิดหน่อย เราไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร แต่เดือนที่เหลือ เราเฉย ๆ เลยนะ เพราะเราติดตั้งทางทิศใต้ ยังไงแดดอ้อมใต้อยู่แล้ว มันน่าจะได้ใกล้ ๆ กันแหละ คิดว่าเดือนที่เป็นหลุมอาจจะต้องรอดูข้อมูลเพิ่มเติม สักปีหน้าเพื่อ Verify อีกทีว่าสมมุติฐานที่เราบอกว่ามันน่าจะได้พอ ๆ กันในทุก ๆ เดือนมันจะเป็นจริงหรือไม่

เรามาดูผลของ Optimiser คร่าว ๆ กันบ้าง เราเริ่มต้นติด Optimiser เดือน Dec 2022 ทำให้ เราขอเอาเดือน Dec 2022 ออกจากการวิเคราะห์ในครั้งนี้ เพราะถือว่าได้รับการติดตั้งเหมือนกัน และเดือน Jan - May ก็เอาออกเช่นกัน เพราะไม่มีข้อมูล หรือ มีข้อมูลไม่เต็มเดือนในปี 2022 ทำให้ในที่นี้ เราจะคุยกันแค่เดือน Jun-Nov ของปี 2022 และ 2023 เท่านั้น

จากกราฟเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า Performance พลังงานที่ผลิตได้ในเดือนเดียวกันของปี 2023 เทียบกับปี 2022 เพิ่มขึ้นสูงกว่ากันในทุก ๆ เดือน ในขณะที่เราคิดเรื่อง การเสื่อมของแผงด้วย ยิ่งทำให้เราได้ข้อมูลที่น่าตกใจมากว่า Optimiser มันช่วยเรื่องการ Yeild พลังงานได้มากกว่าจริง ๆ เฉลี่ย 7.75% เมื่อเทียบกับไม่ติด Optimiser ในระบบเดียวกัน และอย่างที่เราบอกว่า อย่าลืมเรื่องค่าเสื่อมด้วย ทำให้เลขนี้จริง ๆ แล้วเรา Underestimate แล้วด้วยนะ ตีกลม ๆ เดา ๆ เลย ถ้าเราเอา 2 ระบบที่อายุเท่ากันวางที่เดียวกันอายุเท่ากันเหมือนกับระบบ / ของเรา การลง Optimiser น่าจะทำให้เราได้ Energy Yield สูงขึ้นระดับ 8-9% ได้เลยทีเดียว เลยเริ่มคิดแล้วนะว่า หรือว่า Optimiser มันคุ้มกับการลงทุนวะ แต่ยังไงใจเย็น ๆ นะ รอดูข้อมูลก่อน

Performance Comparison ระหว่างระบบที่ 1 และ 2

เรามาลองเอาทั้งสองระบบมาเทียบเดือนต่อเดือนกันดีกว่า สีน้ำเงินคือระบบ 1 และสีแดงคือระบบ 2 นะ ดูผ่าน ๆ พลังงานที่ผลิตได้ต่อเดือนของระบบ 1 ชนะระบบ 2 ทุกเดือน เว้นช่วงต้นปีคือเดือน 1-2 ซึ่งเอาเข้าจริง เรามองว่ามันไม่น่าแปลกเท่าไหร่ เพราะต้องอย่าลืมว่า String Config แตกต่างกันพอสมควรเลยทีเดียว โดยระบบ 1 เรากดแผงไป 16 แผง แต่กลับกัน ระบบ 2 เดินอยู่ที่ 9 แผงด้วยกัน ห่างกันเกือบเท่าตัว แต่ได้พลังงานไล่เลี่ยกันแบบนี้ ต้องบอกเลยนะว่า ระบบ 2 ทรงงานหนักมาก ๆแล้วละ เราว่ามันไม่น่าจะไปได้มากกว่านี้แล้ว ส่วนเดือน 1-2 เรามองว่า อาจจะเป็นเรื่องของมุมที่การอ้อมมันมีผลนิดหน่อยแหละ

หากเทียบพลังงานที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งสองระบบเดินไปในแนวโน้มเดียวกัน กล่าวคือ มันมีการเพิ่มขึ้นหรือลดพลังงานที่ผลิตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าได้ลงไปในทิศทางเดียวกัน จึงทำให้คาดเดาว่า ระบบน่าจะไม่มีปัญหาอะไรร้ายแรงที่ทำให้ระบบใดระบบหนึ่งทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ประหยัดไปขนาดไหน ?

ก่อนเราจะไปถึงเรื่องการประหยัด เราขอพาไปดู Landscape ของการใช้ไฟฟ้าในบ้านของเราก่อน จากกราฟ เราจะเห็นว่าในปี 2023 ที่ผ่านมา ในบ้านเรามีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นมาก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกพอสมควร เนื่องจากในปี 2023 นี้ ที่บ้านเราไม่ได้มีการเพิ่ม หรือเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอัตราการใช้งานพลังงานไฟฟ้าสูงเลย แต่ข้อมูลบอกว่ามีการเพิ่มขึ้น เดาว่าแอร์น่าจะเป็นต้นเหตุ เพราะในปี 2023 ที่บ้านเราเอง เรียกว่าเปิดแอร์ฉ่ำเลยละ บางครั้งร้อนมาก ๆ เราสั่งให้มันเปิดเอง เพื่อให้กระเป๋า และน้ำหอมอยู่แปบ ๆ แล้วก็ปิดไป คิดว่า น่าจะต้องประหยัดไฟกันให้มากกว่านี้แล้วละ เปิดเยอะเกิ๊นนนน

ด้านขวามันว่าง ๆ เพราะเราใส่ช่องของปี 2024 ที่ยังไม่มีข้อมูลลงไปรอสำหรับกรอกในปีนี้

เราเอาหน่วยที่ใช้งานจริงก่อนหัก Solar เทียบกับบิล ดูในปี 2023 เราจะเห็นว่าบิลค่าไฟเรามันเด้งขึ้นมาเยอะพอสมควร สูงสุดของปี 2023 น่าจะเป็นเดือน 7 โดนไป 2991.87 บาท แต่ใช้ไป 1,526.38 kWh เมื่อเทียบกับเดือนที่ใช้ใกล้ ๆ กันอย่าง เดือน 12 โดนค่าไฟอยู่ที่ 2,205.28 บาท กับใช้ไฟไป 1,583.96 kWh เยอะกว่าเดือน 7 อีก แต่เราเสียค่าไฟน้อยกว่า นั่นเป็นเพราะนโยบายลดค่า Ft ของรัฐบาล ที่ตอนนี้ Q1 2024 ก็คือกลับมาเกือบ ๆ เท่าเดิมแล้ว ถ้าเรายังใช้ไฟประมาณเท่าปีก่อน เราอาจจะได้เจอบิลที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนในช่วงสิ้นปีแน่นอน เปงเศร้าเลยฮะ

นอกจากนั้นอีกเส้นบาง ๆ ด้านหลังเป็น Trend Line ของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้งานในบ้าน จะเห็นว่า แนวโน้มของเส้นมันไปในทางค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันตรงกับที่เราคุยกันไปในกราฟก่อนหน้า ถือว่าเป็นเครื่องยืนยันสมมุติฐานของเราว่าเราใช้ไฟเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ถามว่าแล้วการที่เราใช้ Solar Cell ขนาดนี้มันทำให้ เราลดการซื้อไฟจากการไฟฟ้าไปได้เท่าไหร่ ค่านี้เราเรียกว่า Self-Power Percentage เราเอา 12 เดือนในปี 2023 มาเฉลี่ยกัน เราได้อยู่ที่ 74.80% สำหรับเรา เรามองว่า มันน้อยไปหน่อย เพราะระบบขนาดนี้มันเลยคำว่าสำหรับบ้านปกติไปไกลแล้ว แต่มันยังแทนเราได้ไม่ถึง 80% เลย

นอกจากนั้น ถ้าเราเอาค่าไฟก่อนหัก Solar เทียบกับหลังหักแล้วมาหาราคาหน่วยไฟโดยเฉลี่ย หลังจากหัก Solar Cell ไปแล้ว สูงสุดของเราก็คือ เดือน 7 เราโดนไปหน่วยละ 1.96 บาท เท่านั้นเทียบกับ ถ้าไม่หัก Solar Cell โดนไป 5.57 บาท เรียกว่า ฉ่ำเลยทีเดียว แต่อย่างที่บอกว่า Self-Power เรายังไม่ถึง 80% เลยทำให้ เรายังไม่พาค่าไฟเฉลี่ยต่ำ 1 บาทต่อหน่วยได้เลย ยังอยู่ที่ 1 บาทต้น ๆ แต่ก็ยังถูกกว่าหน่วยไฟแบบ TOU เยอะมาก และเราเลือกใช้ในเวลาที่เราต้องการได้ด้วย เลยคิดว่า บ้านเรายังไม่น่าลง TOU เท่าไหร่

เราลองมาคิดดูว่า หากเราไม่ใช้ Solar Cell เราจะโดนค่าไฟในปี 2023 ทั้งหมด 88,892.18 บาท และเทียบกับเมื่อใช้ Solar Cell เหลือ 21,424.66 บาทเท่านั้น ซึ่งแปลออกมาได้ว่า Self-Power Percentage ของเราแปลออกมาเป็นเงินที่เราประหยัดไปประมาณ 75.90% หรือประหยัดไป 67,467.52 บาท

ROI ที่กี่ปี

สุดท้าย มันกลับไปที่คำถามว่า มันแปลออกมาเป็น ROI ที่กี่ปี จากก่อนหน้านี้ เราคุยกันอยู่ที่ประมาณ 8-9 ปี และเราคาดการณ์ว่า เมื่อระบบที่ 2 เดือนเต็มปี น่าจะทำให้ ROI เราเด้งลงไปที่ประมาณ 6-7 ปี อันนี้เราคำนวณปัจจัยเรื่องความเสื่อมของแผงเข้าไปด้วย โดยเรากำหนดให้ 25 ปี ประสิทธิภาพการผลิตจะต้องเหลือ 80% และค่อย ๆ ลดลงเป็นแบบ Linear (ของจริง เรายังไม่รู้ เลยสมมุติไปแบบนี้ก่อน) โดยเราคำนวณออกมาว่า เมื่อครบ 7 ปี เราจะเริ่มมีกำไร 1,507.71 บาท และเมื่อครบปีที่ 10 ที่ Inverter ของระบบ 1 หมดประกัน เราจะมีกำไร 184,956.04 บาท เรียกว่า แทบจะรื้อระบบเดิมออกแล้วลงอันใหม่เข้าไปยังได้เลย หาก Inverter เสียขึ้นมาในช่วง 10 ปี เราก็ยังไม่ขาดทุนอยู่ดี ดังนั้น เรายังอยู่ในการลงทุนที่ยังไงก็กำไรอยู่ดี

และจากที่เราประมาณการณ์เงินที่จะประหยัดไปประมาณ 60,000 บาทต่อปี ของจริงมันได้ 67,467.52 บาท ถือว่า ใกล้เคียง ๆ ใช้ได้เลยละ นั่นทำให้กำไรตลอด 25 ปีของเราจะเพิ่มจาก 871,274.00 บาท ที่เราประมาณไว้ปีก่อน เป็น 1,027,541.04 บาทได้เลย ล้านนึงใน 25 ปี หารเฉลี่ยออกมา ปีละ 41,000 กว่าบาท ด้วยเงินลงทุน 446,000 บาท เห้ยเกือบ 10% แมร่งดีกว่าดอกเบี้ยในกองทุนอีกนะ ฮ่า ๆ (ไม่ต้องพูดถึงดอกเบี้ยเงินฝากนะ ฮ่า ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ขำแห้งเลยนะอันนั้นอะ เศษเงิน หรือเปลือกหอย) แต่อย่าลืมนะว่า มันไม่ได้มาเป็นเงินที่เราจับต้องได้จริง ๆ กับกว่าเราจะได้ขนาดนั้น เราจะต้องรอถึง 25 ปี ถ้าใครรอได้ เงินเย็น ก็ยังตอบเหมือนเดิมว่า เป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากตัวนึงเลยละ

สรุป

จากข้อมูลที่เราได้สรุปมาในปี 2023 เราก็ยังมองว่า การติด Solar Cell เป็นตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจมาก ๆ ตัวนึง ถ้าเรามองเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุน ดูจากผลกำไรมันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ดี บอกก่อนนะว่าเราไม่ได้เชิญชวนให้ลงทุนนะเว้ย !!!!!!!!!! นั่นเป็นเรื่องของอีกเกือบ ๆ 25 ปีกว่าจะถึง แต่เรื่องที่เป็นรูปธรรมมากกว่าในตอนนี้คือ ความรู้สึกการใช้ไฟในบ้านของเรา เพราะเราไม่ต้องกลัวว่า เห้ยเราเปิดแอร์มันจะเปลืองไฟมั้ย เราชาร์จรถมันจะกินไฟขนาดไหน หรือ เราจะทำนั่นนี่ในบ้านมันทำให้ค่าไฟขึ้นมั้ย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ค่า Ft มันยังสูงอยู่ โดยเฉพาะในต้นปี 2024 ณ วันที่เขียนมันกลับมาสูงอีกแล้ว ลดตามนโยบายที่หาเสียงได้ไม่กี่เดือนกลับมาอีกแล้ว และเราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะไปขนาดไหนด้วยซ้ำ ตอนนี้กลายเป็นว่า ถ้าค่า Ft ขึ้นเราจะแอบยิ้ม ๆ นิด ๆ เพราะมันทำให้ เงินที่เราประหยัดมันสูงขึ้น นั่นแปลว่า เราจะคืนทุนเร็วขึ้นด้วยซ้ำ สิ่งที่ต้องแลกคือ การจัดสรรพลังงานตามเวลาที่ระบบผลิตได้ แรก ๆ เรางมอยู่นานว่าจะจัดการยังไง แต่เวลาผ่านไป 3 ปี เรื่องพวกนี้เราทำจนชินแล้ว เช่นการชาร์จรถช่วงที่แดดแรง ๆ หรือการเปิดแอร์ในช่วงที่กำลังไฟจาก Solar Cell เหลือ ตอนนี้เราพึงพอใจกับการใช้งานระบบมาก ๆ ก็ต้องมารอดูในปีต่อ ๆ ไปว่ามันจะเป็นอย่างไร เราจะมา Update ให้อ่านกันในทุก ๆ ต้นปีเด้อ

Read Next...

การเบลอรูปภาพ มันทำได้อย่างไร ทำไมภาพถึงเบลอได้

การเบลอรูปภาพ มันทำได้อย่างไร ทำไมภาพถึงเบลอได้

เคยสงสัยกันมั้ยว่า Filter ที่เราใช้เบลอภาพ ไม่ว่าจะเพื่อความสวยงาม หรืออะไรก็ตาม แท้จริงแล้ว มันทำงานอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูคณิตศาสตร์และเทคนิคเบื้องหลังกันว่า กว่าที่รูปภาพจะถูกเบลอได้ มันเกิดจากอะไร...

รีวิว Features บน Galaxy AI ที่เราใช้งานบ่อยมาก

รีวิว Features บน Galaxy AI ที่เราใช้งานบ่อยมาก

ต้องยอมรับว่า Galaxy AI เป็นเจ้าแรก ๆ ที่ Integrate AI Feature ต่าง ๆ เข้ามาในการใช้งานโทรศัพท์ จนสามารถสร้างกระแสได้แบบสุด ๆ เราได้ทดลองใช้งานมันมาสักพักกับ Galaxy Z Flip 5 และ 6 วันนี้เราจจะมารีวิว Feature ที่เราใช้งานบ่อย ๆ ให้อ่านกัน...

รีวิว Samsung Galaxy Z Flip 6 จากโทรศัพท์ที่เคยปรามาสสู่โทรศัพท์ลูกรักใน 1 เดือน

รีวิว Samsung Galaxy Z Flip 6 จากโทรศัพท์ที่เคยปรามาสสู่โทรศัพท์ลูกรักใน 1 เดือน

ก่อนหน้านี้เราเคยปรามาสโทรศัพท์จอพับได้มาก่อน จนได้มาใช้ Galaxy Z Flip จนมาถึงรุ่นที่ 6 ที่เราต้องบอกเลยว่ามันสมบูรณ์กว่ารุ่นก่อนหน้าพอสมควร การเปลี่ยนแปลงจะมีอะไรไปอ่านได้ในบทความนี้เลย...

สร้าง Book Tracking Library ด้วย Obsidian

สร้าง Book Tracking Library ด้วย Obsidian

เราเป็นคนที่อ่านกับซื้อหนังสือเยอะมาก ปัญหานึงที่ประสบมาหลายรอบและน่าหงุดหงิดมาก ๆ คือ ซื้อหนังสือซ้ำเจ้าค่ะ ทำให้เราจะต้องมีระบบง่าย ๆ สักตัวในการจัดการ วันนี้เลยจะมาเล่าวิธีการที่เราใช้ Obsidian ในการจัดการหนังสือที่เรามีกัน...