By Arnon Puitrakul - 30 ตุลาคม 2023
หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่า Smart Home มันเข้ามาช่วยเราแค่ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเดินไปเปิดปิดไฟเอง พูดง่าย ๆ คือ ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งของ Smart Home ที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไหร่คือ การประหยัดไฟฟ้า วันนี้เราจะมาแชร์ 3 Automation ที่เราใช้จริงในบ้านของเรา และ ประหยัดไฟได้จริง พร้อมเอาข้อมูลมาวิเคราะห์กันดูว่า มันช่วยเราประหยัดไฟได้เดือนละเท่าไหร่กัน
ปล. ตัวเลขที่เห็นมาจากข้อมูลจริงจากในบ้านเราเอง โดยการ Query ขึ้นมาจาก InfluxDB ผ่าน Grafana แล้วให้มันช่วย Transform กับคำนวณให้ออกมาขำ ๆ ได้อยู่
ที่บ้านเราอุปกรณ์ Network ทั้งหมด ถูกใส่ไว้ในตู้ Rack เพื่อความสะดวกในการ Maintenance เมื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปเยอะ ๆ ย่อมทำให้เกิดความร้อนจากการทำงานแน่นอน ดังนั้น เราจึงต้องติดพัดลมเข้าไปเพื่อช่วยระบายอากาศไป 1 ตัว แต่ถ้าเราเปิดพัดลมตลอดเวลา มันจะกินไฟมากขึ้นกว่าตอนไม่เปิดแน่นอน
ทำให้เราคิดว่า เราจะทำยังไงเพื่อจะลดเวลาในการเปิดพัดลมได้บ้าง เลยกลับไปที่ต้นเหตุการติดพัดลมนั่นคือ อุณหภูมิ เรามี อุณหภูมิภายในที่เรารับได้อยู่ว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ เราเลยใช้ อุปกรณ์ 2 ชิ้นด้วยกันคือ Smart Plug สำหรับเสียบกับพัดลมในตู้เพื่อสั่งเปิดปิดผ่าน WiFi หาซื้อได้ตามร้านออนไลน์ทั่ว ๆ ไป เราใช้ของ Sonoff เพราะมันเสถียรกับ Home Assistant ที่สุด และ Sensor อุณหภูมิ มีหลายตัวเลือกมาก แต่พอดีว่า เรามี ESP8266 + DHT22 เหลือในบ้านพอดี เลยเอามา Flash ESPHome แล้วต่อเข้า Home Assistant
ในการที่เราจะสั่งเปิดปิดพัดลมได้จากอุณหภูมิ เราจำเป็นต้องมีค่าอุณหภูมิที่เราต้องการให้มัน Trigger เปิดพัดลมขึ้นมาเราเรียกว่า Upper Limit และ จะต้องเปิดพัดลมจนถึงเมื่อไหร่ เราใช้ค่าอุณหภูมิเช่นกัน เลยเรียกว่า Lower Limit เราตั้งอยู่ที่ 49 - 42 องศาเซลเซียส ที่เหลือ เราแค่ตั้ง Automation ใน Node-red ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ กับเช็คว่าพัดลมเปิดอยู่มั้ย ก็ปรับไป
นอกจากนั้น เรามีระบบ Solar เราอาจจะอยากจะให้มันทำงานเฉพาะเมื่อ Solar Cell มันผลิตไฟได้เกินความต้องการเพื่อให้เราใช้ไฟจาก Solar ได้มากขึ้น
มาที่ข้อมูลกันดีกว่า โดยทั่ว ๆ ไปอุปกรณ์ใน Rack ทำงานอยู่ประมาณ 31W และเมื่อพัดลมทำงานมันจะเด้งไปประมาณ 52W นั่นแปลว่า คิดเร็ว ๆ พัดลมใช้อยู่ประมาณ 21W ด้วยกัน และเราเข้าไปเช็ค ในเดือน กันยายน 2023 เวลาที่พัดลมทำงานมีทั้งหมด 15.6% จากเวลาทั้งหมด (ส่วนใหญ่พัดลมจะทำงานช่วงกลางวัน เป็นระยะ ๆ มากกว่า กลางคืนอากาศมันเย็นด้วย กลายเป็นว่าเงียบสบายไปเลย) และ ไฟทั้งเดือน Rack ใช้ไป 29.58 kWh
ถ้าเราคำนวณขำ ๆ จากกำลังไฟ ถ้าเราเปิดพัดลมตลอด น่าจะทำงานเฉลี่ยอยู่ 0.052 kWh ทำให้ 1 เดือน จะใช้อยู่ 37.44 kWh ทำให้ส่วนต่างอยู่เดือนละ 7.86 kWh คิดเป็นค่าไฟเดือนละ 42.44 บาทด้วยกัน
ในบ้านเรามีการติดพวก Lightstrip หลายจุดมาก ๆ เช่น ฝ้าเพื่อสร้างบรรยากาศ และ หลังทีวีทั้งหลาย ถ้าเราไม่อยู่บ้าน เราจะสร้างบรรยากาศให้ใครใช่มะ ดังนั้นถ้าเราไม่อยู่บ้าน การปิดไฟน่าจะทำให้เราประหยัดไฟได้
Automation นี้ไม่ยากมาก เราใช้ Device Tracker จาก UniFi Integration เมื่อเราอุปกรณ์เราเชื่อมต่อกับ WiFi บ้านเรา มันจะเปลี่ยน Status เป็น Connected ซึ่งการที่เราจะเชื่อมต่อ WiFi บ้านเราได้ แน่นอนว่า เราจะต้องอยู่ในบ้าน หรือใกล้ ๆ บ้านเพียงพอที่จะต่อ WiFi ได้ ทำให้เป็น Tracker ที่ดี เพราะถ้าเราใช้ GPS มันต้องอ่านตลอดเวลา และมันจะกินแบตเราเยอะมาก เลยทำให้เป็นตัวเลือกที่เราไม่เอาแน่นอน
Automation ที่เราใช้งานคือ เราตั้งค่าว่า ถ้าไม่มีคนที่เรากำหนดไว้อยู่ในบ้าน เราจะให้มันปิด Lightstrip ไปง่าย ๆ
เราทดลองวัดไฟจาก Lightstrip ทั้งบ้าน แบบเปิดความสว่างสูงสุดรวม ๆ กันอยู่ที่ 134W (ไม่รวมพวกหลังทีวี) ดังนั้น ถ้าเราเปิด 1 ชั่วโมง จะใช้พลังงาน 0.134 kWh ถ้า 1 เดือน คูณ 24 และ 30 เข้าไป จะใช้ 96.48 kWh ซึ่ง บ้านเราอยู่กันจริง ๆ จากข้อมูลของเดือนกันยายน 2023 โดยเฉลี่ย 16.4 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ 1 เดือนถ้าเราใช้ Automation เราจะเหลือเดือนละ 65.93 kWh ต่อเดือน หรือหายไป 30.55 kWh คิดเป็นเงินประมาณ 162 บาทต่อเดือน
ท้ายสุด คือ การถอดปลั๊กเมื่อเราไม่ใช้งาน จริง ๆ เรื่องนี้ภาครัฐ และ เอกชนหลาย ๆ เจ้า เขาประชาสัมพันธ์เรื่องนี้เยอะมาก ๆ ซึ่งแน่นอนว่า บางที ถ้าเราจะถอดปลั๊กทุกอุปกรณ์ที่เราใช้เสร็จ และ เสียบเมื่อจะใช้ทุกอย่างเลย มันแอบเป็นเรื่องยาก แต่เพราะ Smart Plug มันเข้ามาช่วยได้เยอะมาก
เราทำ Automation เหมือนกับตัว Lightstrip เป๊ะ ๆ คือ เมื่อไม่มีคนอยู่บ้านเราจะให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Smart Plug บางตัวปิดไป เช่นพวก TV Set, เครื่องทำกาแฟ และอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อุปกรณ์ Network และกล้องวงจรปิด และเมื่อเรากลับบ้านมา เราสั่งให้มันเปิดกลับมาแค่นั้น ดังนั้น เวลาเราอยู่บ้าน มันจะไม่มีผลกระทบอะไร ระบบรักษาความปลอดภัยก็ยังทำงานอยู่เหมือนเดิมหมด
หลังจากที่เราทำ Automation กับอุปกรณ์ทั้งหมดจริง ๆ (ก่อนหน้านี้ เราทำแค่บางตัวที่เห็นชัด) ทำให้ต่อเดือน เราประหยัดไฟหายไปอยู่ที่ประมาณ 32.5 kWh หรือคิดเป็นเงินประมาณ 172.25 บาทต่อเดือน
จากเดิมเมื่อเราใช้ Smart Home เพื่อสร้างความสะดวกสบายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว มันยังช่วยให้เราประหยัดไฟได้ด้วย จากข้อมูลของบ้านเราเอง เอาจริง ๆ เรายังตกใจเลยว่า แค่ Lightstrips ที่เราติดตามบ้านมันกินไฟได้เยอะขนาดนั้นเลยเหรอ เมื่อเราใช้ 3 Automations ที่เราเอามาเล่าในวันนี้ ทำให้เราใช้พลังงานลดลง 70.91 kWh หรือคิดเป็นเงินประมาณ 376.69 บาทต่อเดือน ถึงจะดูเล็กน้อย แต่อย่างน้อยคิดซะว่าเป็นเงินกินหนมละกัน
หลังจากดูงาน Google I/O 2024 ที่ผ่านมา เรามาสะดุดเรื่องของการใส่ Watermark ลงไปใน Content ที่ Generate จาก AI วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า วิธีการทำ Watermark ใน Content ทำอย่างไร...
ก่อนหน้านี้เราทำ Content เล่าความแตกต่างระหว่าง CPU, GPU และ NPU ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอาเข้าจริง เราจำเป็นต้องมี NPU อยู่ในตลาดจริง ๆ รึเปล่า หรือมันอาจจะเป็นแค่ Hardware ตัวนึงที่เข้ามาแล้วก็จากไปเท่านั้น วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...
บทความนี้ เราเขียนสำหรับมือใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่อยากรู้ละกัน สำหรับวันนี้เรามาพูดถึงคำที่ถ้าเราทำงานกับพวก Developer เขาคุยกันบ่อย ๆ ใช้งานกันเยอะ ๆ อย่าง Database กันว่า มันคืออะไร ทำไมเราต้องใช้ และ เราจะมีตัวเลือกอะไรในการใช้งานบ้าง...
หากใครที่อายุใกล้ ๆ 30 ต้องเคยผ่านประสบการณ์โลกออนไลน์ในยุค 90s' มาไม่มากก็น้อย เป็นยุคที่เราเน้นใช้โปรแกรมเถื่อน ขายกันอยู่ในห้างพั____พ กันฉ่ำ ๆ ตำรวจตรวจแล้วเราไม่มีขายตัว แต่เคยสงสัยถึงที่มาของโปรแกรมเหล่านี้มั้ยว่า เขา Crack กันอย่างไร วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกัน...