Review

1 ปีกับ Solar Roof ใช้งานเป็นยังไง ? ได้ไฟเท่าไหร่ ?

By Arnon Puitrakul - 29 ตุลาคม 2021

1 ปีกับ Solar Roof ใช้งานเป็นยังไง ? ได้ไฟเท่าไหร่ ?

เราติดค้างมาหลายเดือนแล้วว่าจะมารีวิวว่า หลังจากติด Solar Cell ไป 1 ปี มันเป็นอย่างไรบ้าง มันผลิตไฟได้มากขนาดไหน และเราจะมาลองดูว่ามันลดค่าไฟได้จริงมั้ย เอาบิลค่าไฟมาดูกันเลย

รีวิวเจาะลึกการติดตั้ง On-Grid Solar Cell คุ้มจริงรึเปล่า เสียเงินเท่าไหร่ เขาทำอะไรบ้าง ?
ช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมาปวดหัวอยู่กับเรื่องการติด Solar Cell ที่บ้าน วันนี้เสร็จแล้ว และใช้งานไปพอสมควรแล้ว ก็ได้เวลาเอามารีวิวแบบเจาะลึกกัน

Solar Cell ที่ติดตั้งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5.5 kWp หรือก็คือ สูงสุดที่ 5,500 W ด้วยกัน ในระบบประกอบด้วยแผง Solar Cell จำนวน 20 แผง ถ้าใครที่ติดมาก่อนจะรู้ว่า 20 แผงมันเกิน 5.5 kWp แน่ ๆ มันจะตกที่ 6-7 kWp เลย แต่ที่ทางผู้ติดตั้งเพิ่มให้เพราะ ทิศที่เราติดคือ ตะวันออก ตะวันตก และ เหนือ ที่มันไม่ได้รับแสงเยอะ เพราะทิศใต้ที่ได้แสงเยอะ ๆ เราไม่มีพื้นที่หลังคาในทิศนั้น เลยทำให้ต้องเพิ่มแผง เพื่อให้มันได้พื้นที่ในการรับแสงเยอะขึ้น กับ เราจะเสียเปรียบมาก เพราะเราแทบจะใช้แผงได้ทีละครึ่งเท่านั้น ช่วงเช้า เราก็จะใช้แผงฝั่งตะวันออกได้เยอะ แล้วหลังเที่ยงมันก็จะเอนไปทางตะวันตกมากกว่า จะแตกต่างจากบ้านอื่นที่ยกแผงทั้งหมดไว้ในทิศเxtดียวเลย อันนี้จะเป็นข้อเสียของบ้านเรา

ได้ไฟเท่าไหร่ ?

เส้นบาง ๆ ด้านหลังเป็น Trendline เด้อ ที่ดูมีแววว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในความเป็นจริง มันควรจะลดลง เพราะประสิทธิภาพควรจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่อันนี้เราว่าน่าจะเป็นเพราะ เวลามันยังน้อยไปต้องรอดูก่อน

ใน 1 ปีที่ผ่านมา เป๊ะ ๆ เลย เราได้ไฟมาทั้งหมด 6,435.27 kWh ถ้าคิดค่าไฟหน่วยละ 4.1 บาท ก็จะอยู่ที่ประมาณ 26,384 บาทด้วยกัน แต่เราจะคิดแบบนั้นตรง ๆ ไม่ได้ เพราะค่าไฟเราเป็นอัตราก้าวหน้า แต่ก็เอาประมาณคำนวณง่าย ๆ ขำ ๆ ละกัน ทีนี้ถ้าเราดูเป็นเดือน ๆ ไป เราจะเห็นว่า แต่ละเดือน อัตราการผลิตมันจะไม่คงที่นะ โดยเฉพาะช่วงเดือน 10 ของปี 2020 ถึง เดือน 2 ของปี 2021 ที่การผลิตแย่มาก ๆ แล้วอยู่ดี ๆ เดือน 3 โดดขึ้นมา เป็นเพราะ แผงสกปรกมากฝุ่นเกาะค่อนข้างหนา ที่เราไม่ทำความสะอาด เพราะผู้ติดตั้งบอกว่า ให้ล้างปีละครั้ง ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันผ่านมาไม่กี่เดือนเอง แต่พอเราเดินออกไปดูแผงมันก็ขุ่น ๆ เห็นฝุ่นเยอะมาก ๆ แล้วละ แต่นึกว่าไม่น่าจะเยอะอะไร พอล้างไปเท่านั้นแหละ เดือน 3 ก็คือพุ่งทะยานเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ หน้าร้อนมันเป็นช่วงที่โลกเราใกล้พระอาทิตย์มาก ๆ ทำให้ได้ความเข้มค่อนข้างสูง แล้วก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ เดือนนึงไม่ต่ำกว่า 600 หน่วย เป็นตัวเลขที่ถือว่าโอเคละ เพราะเราจะเริ่มกลัว ๆ เมื่อเดือนนึง มันได้ไม่ถึง 500 หน่วยจะเริ่ม เช็คละว่า เอ๋ เดือนนี้มันยังไงนะ

แต่ถ้าไปดูที่ผู้ติดตั้งเราเขียนในใบปริว บอกว่า 5kWp จะผลิตได้ที่ประมาณ 10,800 หน่วยต่อปี ดังนั้น เราผลิตได้จริง ๆ แค่ 59.59% ของที่เขาให้ข้อมูลเรามาเท่านั้น เราไม่รู้นะว่า มันอยู่ในระดับที่รับได้มั้ย แต่เราพอจะเข้าใจว่า การที่หลังคาบ้านเรามันชัน ทำให้การรับแสงทำได้แย่ลงแน่นอน ประกอบกับทิศในการติดตั้งที่น่าจะเรียกว่า หายนะ เกือบที่สุด ก็เลยทำให้พลังงานที่เราได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก แค่ไม่รู้ว่า เท่านี้คือ​โอเค หรือตุย

สังเกตว่าเดือน 8 ของทั้ง 2 ปีจะน้อย นั่นเพราะเราดึงข้อมูลแบบ 1 Year จริง ๆ เลย ทำให้ เดือน 8 มันไม่เต็มเดือน

สิ่งที่สวนทางจากการผลิตโดยสิ้นเชิงเลย น่าจะเป็นการใช้ไฟในบ้านมากกว่า เดิม ๆ เลย ปกติ จะใช้ไฟกันอยู่ 900 หน่วยกว่า ๆ ต่อเดือน จริง ๆ ก่อนหน้านี้ใช้น้อยกว่านี้มาก ๆ เพราะเมื่อก่อน ก็จะประหยัดไฟกันพอตัวเลยละ เช่นถ้าจะเปิดแอร์ เออ ต้องร้อนจริง ๆ ถึงจะเปิด แต่พอมาติด Solar จริง ๆ แล้ว ทำให้นิสัยเสียมาก ๆ เออ นิด ๆ หน่อย ๆ เปิดแล้วอะไรแบบนั้น เลยทำให้ค่าแอร์ก็คือเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ๆ ประมาณ 30 - 35% กว่า ๆ มาจากค่าไฟจากแอร์เลย กระทั่งเว็บที่เรากำลังอ่านอยู่ตอนนี้ Server ก็อาศัยอยู่ในบ้านเช่นกัน รวม ๆ กับเครื่องขุด Crypto เครื่องนึง ก็จะกินไฟอยู่ที่ 30% ของการใช้ไฟทั้งหมดแล้ว ซึ่งเมื่อก่อน Server เราก็ไม่ใหญ่เท่าตอนนี้ เครื่องขุดจริง ๆ มันก็คือ เครื่องคอมสำหรับเล่นเกมที่เมื่อก่อน เล่นเสร็จก็ปิดไม่มีอะไร ตอนนี้เจอทั้งแอร์หนัก ๆ เจอทั้ง Server และเครื่องขุดต่าง ๆ เลยทำให้ค่าไฟมันค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมหาศาลมาก ๆ จนโดดไป 1,000 หน่วย พีคสุดน่าจะเดือน 5 โดดไป 1,600 หน่วยเลย ส่วนนึงที่เยอะ เราต้องเข้าใจด้วยว่า มันเป็นช่วงการแพร่ระบาดของ COVID ด้วย เลยทำให้ ทุกคนก็ต้องอยู่บ้าน ทำให้ใช้ไฟเยอะขึ้นไปอีก ไม่แปลกเท่าไหร่ที่จะเห็นข้อมูลออกมาเป็บแบบนี้

ดูถ้าทางแนวโน้มการใช้พลังงานในบ้านเราก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เลย เพราะมีอุปกรณ์ในบ้านเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก พร้อมกับการอยู่บ้านตลอด WFH ด้วย ก็เลยทำให้ค่าไฟมันเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวอยู่แล้ว ต้องมารอดูว่า หลังจาก COVID ที่เรากลับไปทำงานในออฟฟิศได้ ค่าไฟมันจะเหลือเท่าไหร่กันแน่ ฮ่า ๆ

นอกจากนั้นแล้ว เรายังไม่เอาข้อมูลก่อนที่จะมี Solar Cell มาเปรียบเทียบด้วย เพราะลักษณะการใช้ไฟมันต่างกันมาก ๆ ปีก่อน ถ้าเราจำกันได้ก็คือ Full Lockdown ไปทำให้เราอยู่บ้านกันหมด เลยทำให้เราใช้ไฟกันรัว ๆ มาก ๆ แต่ ตอนนี้มันก็คลายแล้ว เลยทำให้เราอยู่บ้านน้อยลงด้วย สถานการณ์มันต่างกัน ไว้ ปีที่ 3-4 ถ้าสถานการณ์มันกลับมาเป็นปกติแล้ว เดี๋ยวเราลองเอามาเทียบกันดูได้

ประหยัดค่าไฟไปกี่บาท ? และ ROI ที่กี่ปี ?

ก่อนหน้านี้เราบอกว่า เราลองคิดขำ ๆ เอาหน่วยไฟที่ผลิตได้คูณกับราคาต่อหน่วยเลย คือ 4.1 บาท 1 ปีที่ผ่านมา เราก็จะประหยัดเงินไป 26,000 กว่าบาท เราลองมาคิดจริง ๆ กันเลยดีกว่าประหยัดเท่าไหร่ เรารู้ว่า ราคาบิลที่การไฟฟ้าเอามาเสียบไว้หน้าบ้านมันเป็น Net Energy ที่เอาไฟที่ใช้หักกับไฟที่ผลิตได้ไปแล้ว ถ้าเราอยากรู้ว่าเราลดไปจริง ๆ เท่าไหร่ เราก็เอาหน่วยไฟก่อนหัก Solar Cell ไปคำนวณหาก่อนว่ากี่บาท แล้วเอามาลบกัน เราก็จะได้เงินที่เราประหยัดไปต่อเดือนออกมาของจริงเลย ซึ่งเราอยู่ต่างจังหวัดอยู่ในความรับผิดชอบของ PEA ที่ในเว็บเขามี ระบบประมาณค่าไฟ ให้เราใส่หน่วยไฟ แล้วมันจะคำนวณมาให้เลยแบบเสร็จ ซึ่งทั้งหมด เราก็จะประหยัดไปที่ 30,664.09 ที่ถือว่า โอเคนะ ใช้ได้เลย ปีนึงประหยัดไปได้เท่านี้ หรือถ้าคิดเฉลี่ยก็จะประหยัดได้เดือนละ 2358.78 บาทเลย บ้านทั่ว ๆ ไปถ้ามุมดีกว่านี้น่าจะได้มากกว่านี้พอตัวเลย ดังนั้นบ้านที่จะใช้ไซส์นี้จริง ๆ เราว่าเดือนนึงค่าไฟต้องราว ๆ 2500++ เลย

อันนี้ต้องบอกก่อนนะว่า เราคิดในเคสที่เราใช้ไฟเต็มเท่าที่เครื่องผลิตได้ตลอดเวลานะ เพราะปกติแล้วถ้าเราติดตั้งแบบ On-Grid เราจะมีกันย้อน เพื่อควบคุมให้เครื่องผลิตไม่เกินที่เราใช้งานอยู่ ไม่งั้นไฟมันจะไหลย้อนกลับไปใน Grid อันนี้ผิดกฏหมายเด้อ ซึ่งบ้านเราเอง โดยทั่วไปแล้วก็จะใช้ไฟเต็มเรียกได้ว่าแทบจะตลอดเลย ถึงจะบอกว่าโหยยย 5.5 kWp ยังใช้เต็มตลอดได้เหรอ แต่เอาเข้าจริงมันได้ไม่ถึง 5.5 kWp ตลอดหรอก ปีนึงที่ผ่านมาเจอเลขนี้อยู่แค่ อาทิตย์เดียวเองมั้ง ที่เหลือมันก็อยู่ที่ 3-4 kW ซึ่งเราอยู่บ้าน ก็คือ แอร์เปิดหมดทุกเครื่อง กับเครื่องขุดอีก ถึงอยู่แล้วสบาย ๆ เลย เลยคิดแบบนี้ได้

ซึ่งถ้าเราดู Overall ยาว ๆ เลย ตัวแผงเองมันประกันอยู่ที่ 25 ปี โดยที่ประสิทธิภาพจะต้องลดไม่เกิน 20% ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า การลดลงของประสิทธิภาพมันจะลงเป็น Linear เราก็สามารถเอามาหารเพื่อหาความชันได้เลย ก็จะอยู่ที่ 0.8% ต่อปี ถ้าเราใช้สมมุติฐานนี้ในการคิด โดยเอาพลังงานที่ผลิตได้ในปีนี้คิดเป็นประสิทธิภาพ 100% พอปีที่ 25 เราจะผลิตได้ที่ 5,148.22 หน่วยเท่านั้น และในอายุของระบบควรจะผลิตได้อยู่ 144,201.53 หน่วย ถ้าคูณ 4.1 บาทต่อหน่วยเข้าไป ก็ได้มา 591,226.27 บาท อันนี้อาจจะดูคร่าวไปนิด

งั้นเราลองเปลี่ยน เราตั้งสมมุติฐานว่า เงินที่ประหยัดได้จะลดลงตามประสิทธิภาพของแผงละกัน และ ประสิทธิภาพของแผงลดลงเป็นแบบ Linear โดยที่ปีแรก 100% ประหยัดที่ 30,664.09 บาท ทำให้ในปีที่ 25 เราจะประหยัดที่ 24,531.27 บาท และการประหยัดตลอดการใช้งานที่ 687,120.92 บาทด้วยกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการติดตั้งอยู่ที่ 239,000 บาท ทำให้ ROI อยู่ที่ 8-9 ปี รวมค่าล้างแผงทั้งอายุ เราก็ว่าอยู่ที่ 9 ปีก็จะคืนทุนแล้ว นั่นทำให้กำไรในการใช้ทั้งระบบเป็นเวลา 25 ปีหักค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 421,937.88 บาทด้วยกัน ก็โอเคอยู่นะ อันนี้เรายังไม่ได้คิดเรื่องค่าไฟที่ราคาแพงขึ้นนะ คิดแค่ว่า ค่าไฟเท่าเดิมตลอด 25 ปี ทำให้ตัวเลขนี้เรา Underestimate ไปพอสมควร

ใช้มา 1 ปีมีปัญหาอะไรบ้าง ?

ปีที่ผ่านมา ถามว่าเจอปัญหามั้ย มันก็มีบ้าง ที่อยู่ดี ๆ Inverter ก็ไม่ผลิตไฟเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็โทรแจ้งเข้าที่บริษัทที่ติดตั้งให้เราคือ Asolar ก็แน่นอนว่า กว่าจะมาได้ ก็ต้องใช้เวลาเป็นวันเลย ถ้าดูตาม Data ปัญหามันเกิดช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 12 Feb 2021 และปัญหาถูกแก้ กลับมาผลิตไฟได้เหมือนเดิมช่วงบ่ายของวันที่ 17 Feb 2021 ใช้เวลาติดต่อจนถึงแก้ปัญหาเสร็จก็ประมาณ 4-5 วันได้ ไม่รู้นะว่าเจ้าอื่นในไทยช้าหรือเร็ว แต่สำหรับเรา เรามองว่า การ Support ใช้เวลานานมาก ๆ เลย และการติดต่อที่น่าปวดหัวมาก ๆ ไม่อยากติดต่อเลย ถ้าไม่จำเป็น เพราะคุยทีไร ปวดหัวทุกครั้ง และใช้เวลานานมาก ๆ

การใช้งาน Solar Cell ตัวอายุของมันอยู่ที่ 25 ปี มันเป็นช่วงเวลาที่นานมาก ๆ เลย ดังนั้น การที่จะเลือกบริษัทที่ติดตั้ง เราควรเลือกบริษัทที่มีความมั่นคงอยู่ได้ถึง 25 ปีนานพอที่จะ Support เรา และ การติดต่อแจ้งปัญหา บริการหลังการขายต่าง ๆ ควรจะง่ายต่อการติดต่อ ไม่งั้นเราว่าประสาทแดกได้เลยละ

เราจะต้อง Maintenance ยังไงบ้าง ?

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรมันเลย ก็คือปล่อยมันผลิตไฟไปเรื่อย ๆ เลย แค่เราต้องคอยดูระบบว่ามันมีอะไรผิดปกติมั้ย มีรอยไหม้หรืออะไรที่ระบบมั้ย และตัวแผงเองที่ควรจะหมั่นตรวจสอบว่า มันมีฝุ่นเกาะหนามั้ย เพราะถ้าฝุ่นเกาะหนา ทำให้การผลิตมันทำได้น้อยลงมาก เราเชื่อเลยว่า การที่แผงสกปรกทำให้มันผลิตไฟได้น้อยจริง ๆ เพราะปีที่ผ่านมา เราล้างไป 1 ครั้งด้วยกัน วันก่อนล้าง กับ วันหลังล้าง เราเห็นประสิทธิภาพเลยว่า มันต่างกันพอตัวเลย

ทำให้ค่า Maintenance จริง ๆ แล้วอย่างน้อยที่สุด เราควรจะจ้างเขามาล้างแผง และเช็คระบบปีละครั้ง จะดีมาก โดยที่ Asolar คิดบ้านเราอยู่ที่ 3,000 บาทต่อครั้ง (เข้าใจได้ เพราะบ้านเราอยู่นครปฐม แต่บริษัทเขาอยู่รังสิต ก็คือ คนละด้านของกรุงเทพเลย ไกลจริงอะไรจริง) โดยที่ปีแรกฟรีไป ซึ่งเราใช้ไปแล้ว ทำให้อีก 24 ปีที่เหลือ เราจะมีค่าล้างแผงและเช็คระบบอยู่ที่ 72,000 บาทด้วยกัน

ถ้าถามเราว่า เราควรจะล้างแผงช่วงไหนดี เราว่าจริง ๆ ควรจะล้างช่วงเดือน 2 แถว ๆ นั้นเลย เพราะถ้าเข้าหน้าร้อน มันเป็นช่วงที่เราเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ เราน่าจะได้ไฟเยอะขึ้น ประกอบกับก่อนหน้านั้นมันเป็นฤดูหนาว (ทิพย์) ที่ฝนตกน้อยมาก ระหว่างนั้นฝุ่นก็น่าจะก่อตัวไม่มากก็น้อยแล้ว ล้างช่วงนั้นก็น่าจะพอดีเป็นการรับหน้าร้อนเลย และถ้าเราล้างหลังหน้าร้อนก็ไม่รู้จะล้างทำไม เพราะมันเข้าหน้าฝนแล้ว ฝนก็ตกบ่อย เป็นการล้างแผงคร่าว ๆ ไปในตัวแล้วนั่นเอง

สรุป

การใช้งาน 1 ปีที่ผ่านมา รวม ๆ แล้วเราว่าก็โอเค ปัญหาไม่ได้เยอะมาก แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้นเอง แต่ความสามารถในการผลิต เราว่ามันได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปหน่อย ทำให้เราใช้เวลาในการคืนทุนที่นานขึ้นเป็น 9 ปีเลย จากเดิมที่ตอนแรกเราคำนวณไว้ที่ประมาณ 7-8 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะลักษณะ และ ทิศ ของบ้านเรามันถือว่าไม่ได้ดีเลย และถ้าดูจากการใช้งานจริง ๆ และอนาคตของรถไฟฟ้า บ้านเราอาจจะต้องเพิ่มปริมาณแผงสัก 3 kWp เพื่อให้พึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นต้องลองมาดูว่า เมื่อเวลาผ่านไป ปีที่ 2 เราจะได้เท่าไหร่ ปีหน้าเรามาดูกัน

Read Next...

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ประสบการณ์การใช้งาน)

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ประสบการณ์การใช้งาน)

ในตอนนี้เราจะมาถึงประเด็นสำคัญของกล้องกันบ้างดีกว่าคือ คุณภาพของภาพ และประสบการณ์ใช้งานที่เราได้กล้องตัวนี้มาวันนึงแล้ววันต่อไปต้องไปญี่ปุ่นเลย เราได้เอาเป็นกล้องตัวเดียวไปถ่ายเลย วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า เราประทับใจหรือมีข้อสังเกตตรงไหนจาก Q3 บ้าง...

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ภาคตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริม)

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ภาคตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริม)

หลังจากตอนที่แล้ว เรา Unbox Leica Q3 ไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้เราจะมาเล่ากันต่อ ในเรื่องของลักษณะตัวกล้อง และ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ว่าแต่ละจุดมันมีหน้าตายังไง และการออกแบบมาในลักษณะนั้นเรามี Comment กับการใช้งานอย่างไร...

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ภาคแกะกล่อง)

รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ภาคแกะกล่อง)

หลังจากนั่งคิดอยู่หลายเดือน ตัดใจไปหลายรอบมาก ๆ สุดท้ายเราก็กดมันมาสักที กับกล้อง Compact ในฝันของใครหลาย ๆ คน ที่ขายหมด หาของยากกันสุด ๆ อย่าง Leica Q3 เราได้เอาไปลองถ่ายที่ญี่ปุ่นมาทริปนึงด้วย วันนี้ขอมาในฝั่ง Unboxing กันก่อนที่บอกเลยว่า ประสบการณ์มันดีมากจริง ๆ...

1 เดือนกับ Macbook Pro 14-inch M4 Max ไม่ผิดหวังเลยจริง

1 เดือนกับ Macbook Pro 14-inch M4 Max ไม่ผิดหวังเลยจริง

เป็นเวลากว่า 1 เดือนเต็ม ๆ แล้วที่เราได้ใช้งาน Macbook Pro 14-inch M4 Max ในการทำงานของเรา ความเห็นเราจะเปลี่ยนจากตอนที่เรารีวิวไปตอนแรกหรือไม่วันนี้เราจะมาบอกเล่าประสบการณ์ที่เราได้ใน 1 เดือนจาก Laptop เครื่องนี้กัน...