เลือกซื้อ Music Steaming เจ้าไหนดีในปี 2024
มาถึง Content ที่คนถามเข้ามาเยอะมากว่า ในปี 2024 ในไทยเรามี Music Streaming เข้ามาเปิดหลายเจ้ามาก ๆ ตั้งแต่ Spotify, Apple Music, Youtube Music และ Tidal เราควรจะเลือกเจ้าไหนดี วันนี้เราจะมาวัดจาก Indication 5 อย่างด้วยกัน แล้วลองมาสรุปคะแนนดูว่า เราน่าจะเหมาะกับเรื่องแบบไหนกันดีกว่า
ขนาดคลังเพลง
Indicator แรกที่เราใช้คือ ขนาดของคลังเพลง หรือใน บริการแต่ละเจ้า เขามีเพลงให้เราเลือกฟังมากขนาดไหน ถ้าเราไปดูที่แต่ละบริการเขาเคลมกัน ทุกเจ้าในนี้เล่นเคลมกัน 100 ล้านเพลงกันเลยทีเดียว ซึ่งโอเค เราว่ามันไม่ได้สะท้อนถึงการฟังเพลงของแต่ละคนขนาดนั้น เพราะแต่ละคนล้วนมีสไตล์การฟังเพลงที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราขอโฟกัสไปที่ 2 กลุ่มใหญ่คือ คนที่ฟังเพลงไทย + สากล และ สากลล้วน ๆ
หากคุณเป็นคนฟังเพลงสากลล้วน ๆ ทุก ๆ เจ้าที่เรายกมาวันนี้ สามารถตอบโจทย์คุณได้หมด เพลงใหม่มาเร็วพร้อม ๆ กับเกือบตลอด ทำให้กลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเริ่มฟังเพลงไทยด้วย จุดนี้แหละที่มันตัดเฉือนกันในแต่ละเจ้าละ
สำหรับเรา หากมองไปที่เพลงไทยจริง ๆ เราแอบยกมงให้ม้ามืดอย่าง Youtube Music เพราะต้องยอมรับว่า เขาเติบโตจากการเป็น Video Streaming Service ที่มีคนชอบเอาเพลงมา Upload ลงไปกัน ตั้งแต่ Music Video จนไปถึง เพลงทั้งก้อนเลยก็มี แตกต่างจากเจ้าอื่น ๆ ที่ให้เจ้าของเพลง หรือค่ายเพลง Upload เอง ทำให้ใน Youtube Music มีเพลงไทยสากลตั้งแต่ ใหม่โคตร ๆ เผลอ ๆ เป็นที่แรก ๆ (ก็เอา MV มาเล่นเลยสิวะ) จนไปถึงเก่ามาก ๆ แบบสุนทราภรณ์เลยก็มี ดังนั้นหากใครต้องการความหลากหลายของเพลงไทยสากลเยอะ ๆ Youtube Music คือตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ
รองลงมา เราจะให้ Spotify เพราะเป็น Platform ที่มีฐานผู้ใช้เยอะเป็นอันดับต้น ๆ และหากเทียบกับเจ้าอื่น ๆ ในตลาด น่าจะเป็นผู้เล่นที่อายุเยอะที่สุด และยังคงอยู่ในตลาดได้ ไม่นับ Deezer ที่เข้ามาแล้วตุย ทำให้เขามีการสะสมจนได้คลังเพลงขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า Apple Music หลายขุม นอกจากนั้น เพลงใหม่ ๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ มักจะลงใน Spotify ก่อน Apple Music หลายวันอยู่ อันนี้เราไม่แน่ใจว่า เป็นที่ขั้นตอนการลงเพลงของ Apple Music ที่ใช้เวลานานกว่า หรือค่ายเพลงเลือกที่จะลง Spotify ก่อน แต่ภาพที่เรามักจะเห็น หากไม่ลงพร้อม ๆ กัน ก็จะลง Spotify ก่อน ทำให้ผู้ฟังที่ชอบฟังใน Day-1 เลือกใช้ Spotify ได้ประโยชน์มากกว่าเต็ม ๆ
รองลงมาอีกคือ Apple Music ด้วยความที่เขาเข้ามาหลัง Spotify ทำให้เพลงเก่า ๆ บางเพลง มันไม่มี แต่ถ้าลองไปหาใน Spotify เขามีหมด เราคิดว่า อาจเกิดจากการที่พอเขามาทีหลัง ค่ายเพลงบางค่ายอาจจะเลือกไม่เอาเพลงเก่า ๆ มาลง กลายเป็นว่าเพลงใหม่ ๆ ตั้งแต่ Apple Music มีหมดเลยนะ ยิ่งปัจจุบัน เราคิดว่ามันเริ่ม Mainsteam ในไทยเรามากขึ้นค่ายเพลงเริ่มหยิบ Apple Music เป็นตัวเลือกในการลงพอ ๆ กับ Spotify เลย ดังนั้น หากเราต้องการฟังเพลงไทยที่อายุมากกว่า Apple Music อาจจะต้องลองดูนิดนึง มันสู้เรื่องนี้กับ Spotify ไม่ได้จริง ๆ
สุดท้าย Tidal เจ้านี้คือ เรามองว่า เขาไม่ได้เข้ามาทำการตลาดในไทยอย่างจริงจัง ไม่ก็จับว่าตัวเองเล่นในกลุ่ม Niche มากกว่า เขาค่อนข้างเด่นเรื่องเพลงสากลมาก ๆ แต่เพลงไทย เท่าที่เราลองใช้มา ไม่ว่าจะเก่า หรือใหม่ ก็คือน้อยมาก ๆ หากใครเน้นฟังเพลงไทยสากล เราคิดว่า Tidal ไม่ใช่ตัวเลือกสักเท่าไหร่ ไปมองตัวที่เหลือดีกว่า แต่หากเน้นฟังเพลงสากลเป็นหลัก อันนี้คือ ตอบโจทย์เลย
Music Discovery
ถัดมาเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เราไม่คิดมาก่อน จนกระทั่งแม่มาลองใช้ Apple Music แล้วบ่นไม่ชอบมันสุด ๆ ในขณะที่เพื่อนเราบางคนก็ Raise ประเด็นนี้ขึ้นมาได้ดีมาก ๆ นั่นคือ Music Discovery หรือการค้นหาเพลงใหม่ ๆ
แม่บอกว่า จริง ๆ ที่แม่ยังชอบฟังวิทยุอยู่ เป็นเพราะ วิทยุ เขาจะเปิดเพลงใหม่ ๆ หรือเพลงที่คนขอเข้ามา หรือก็คือเป็นเพลงที่อยู่ในกระแส ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งมันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นพวก Music Streaming จะเน้นไปที่การหาเพลงที่เราชอบ อ้างอิงจากการฟังเพลงของเรา จุดนี้แหละมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พอได้ไปคุยกับเพื่อน ก็เริ่มเห็นความสำคัญกับ Feature ในการที่ทำให้เราได้ฟังเพลงใหม่ ๆ เหมือนเราฟังวิทยุ
เจ้าที่เอาไอเดียของวิทยุมา Implement ตรง ๆ เลยนั่นคือ Apple Music ในนั้น เขาจะมี Tab ที่ชื่อว่า Radio อยู่ หลักการเหมือนกับการฟังวิทยุทุกอย่างคือ มันจะสุ่มเพลงในหมวดที่เราเลือกขึ้นมาเล่นเรื่อย ๆ ทำให้เราได้ฟังเพลงใหม่ ๆ (หรือเปล่า ?) เช่นเราเลือก Thai Pop Station ขึ้นมาเล่น มันก็จะเล่นเพลง Thai Pop ยาว ๆ ซึ่งไส้ในจริง ๆ เราคิดว่า มันคือ Long Playlist ที่ไม่รู้ว่ามัน Curated มายังไง อาจจะคำนวณจากการฟังเพลงของเรา หรือเอาเพลงใหม่ในหมวดนั้น ๆ มาเล่นให้ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน นอกจากนั้น เขายังมีลักษณะที่เหมือนกับวิทยุจริง ๆ ด้วยคือการอัดวิทยุมาลงใน Apple Music และ Feature สำหรับการแนะนำอย่างการมี Mix เช่น Chill Mix และ New Music Mix เป็น Feature กลาง ๆ ที่เน้นการทำ Automated Curated Playlist โดยอ้างอิงทั้งประวัติการฟังเพลงของเรา และ เพลงใหม่ ๆ ที่เข้ามา โดยรวมเราว่า เขาไม่เน้นให้เรา Discover เพลงใหม่ ๆ เท่ากับเจ้าอื่น ๆ เนื่องจาก UI ที่เอื้อให้เราฟังเพลงเดิม ๆ มากกว่า และ Feature ที่มีก็เอื้อให้เราฟังเพลงที่เครื่องคิดว่า เราน่าจะชอบมากกว่าเพลงใหม่ ๆ เราไม่ได้บอกว่าแบบไหนถูกหรือผิดนะ แต่มันอยู่ที่ Perference ของเรามากกว่า
อีกเจ้าที่ Implement Radio Feature เช่นเดียวกันคือ Tidal โดยสถานีคล้ายกับฝั่ง Apple Music มาก ๆ แต่ดูท่าทางเขาจะเน้นการทำ Playlist ที่ Generated จากระบบ เช่น มันเห็นว่า เราชอบฟัง 5 seconds of summer บ่อย ๆ มันจะทำสถานีที่รวมเพลงของ 5 seconds of summer ผสมกับเพลงในแนว ๆ เดียวกัน ส่วนนึงมันทำให้เราได้ Discover เพลงใหม่ ๆ แต่มันจะเป็นเพลงที่ส่วนมากอยู่ใน Genre เดียวกันซะมาก ประกอบกับ Feature อย่าง Curated Playlist จาก Tidal เองที่อาจจะทำให้เราได้ Discover เพลงใหม่ ๆ ก็เป็นได้ แต่สิ่งที่ Tidal แตกต่างคือ เขาเน้นไปที่การนำเสนออัลบั้มใหม่ หรือการนำเสนอพยายามให้เราฟังเพลงทั้งอัลบั้มไปเลย จริง ๆ มันแอบดีนะ มันทำให้เราย้อนไปเหมือนตอนที่เราต้องซื้อซีดีทีก็ทั้งอัลบั้มไปเลย ซึ่งมันจะทำให้เราได้ลิ้มรสการเรียงเพลง และเรื่องราวของศิลปินได้เหมือนสมัยก่อนเลยละ
ถัดไปคือ Youtube Music เราคิดว่าอันนี้แหละคือ ถ้าใครไม่สนใจเพลงใหม่ ๆ เน้นฟังเพลงเดิม ๆ เหมาะมาก เพราะ UI ของ Youtube Music ดูเน้นให้เราฟังเพลงเดิม ๆ มากกว่า เช่นการทำ Feature Recap เพื่อให้เรากลับมาฟังเพลงเดิม ๆ มี Feature ที่อาจจะทำให้เรา Discover เพลงใหม่ ๆ ได้นิดหน่อย อย่าง User Generated Playlist ที่ให้ผู้ใช้คนอื่น ๆ สร้าง Playlist และแชร์ให้กับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งการที่ Playlist นั้น ๆ จะแสดงขึ้นมาแนะนำให้เรา มันจะเกิดจากการที่เราฟังเพลงที่อยู่หนึ่งในเพลงของ Playlist นั้น ๆ มันก็จะเข้าใจว่า เพลงที่อยู่ใน Playlist น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับเพลงที่เราฟัง ถ้าเราชอบฟังเพลงนึงใน Playlist เราน่าจะชอบเพลงทั้ง Playlist นะแบบนั้น สุดท้ายส่วนใหญ่ที่ออกมา มันจะเป็น Genre คล้าย ๆ กัน หรืออาจเป็น Ost ของหนังหรือซีรีย์สักเรื่องแค่นั้น ทำให้เรามองภาพรวมว่า การแนะนำเพลงใหม่ ๆ การทำให้เราได้ Discover เพลงใหม่ ๆ ของ Youtube Music น่าจะเรียกว่า แย่ที่สุดแล้ว แต่ถ้าเราชอบฟังเพลงซ้ำ ๆ มันเป็นตัวที่สุดโต่งตอบโจทย์สุด ๆ
มาถึงเจ้าสุดท้าย ที่เราคิดว่า เขา Balance การ Discover เพลง และ การฟังเพลงเดิม ๆ ได้ดีที่สุด และเป็นจุดเด่นของเขาคือ Spotify โดยเขามี Feature ที่แนะนำเพลงอ้างอิงจากประวัติการฟังเพลงของเราอย่าง Daily Mix ที่มีให้เราถึง 6 Playlist ด้วยกัน และเปลี่ยนทุก ๆ วัน ทำให้เราได้ฟังเพลงใหม่ ๆ เรื่อย ๆ ทุกวัน และเพลงที่มันแนะนำออกมา เรายังมองว่า มันยังไม่ได้ทำให้เรา Discover เพลงใหม่ ๆ มากเท่าไหร่ เพราะอย่างที่บอกว่ามันแนะนำจากประวัติการฟังเพลงของเรามากกว่า แต่ Feature ที่เราคิดว่า มันเป็นจุดแข็งมาก ๆ ของ Spotify คือ Curated Playlist จากทั้ง Spotify เอง และผู้ใช้คนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างหลังเรียกว่าสร้างสีสันในการฟังเพลงได้มหาศาลมาก ๆ และยังเป็นช่องทางการตลาดในการทำให้ลูกค้าของเราได้รับประสบการณ์โดยใช้เสียงเพลงได้ด้วย เราจะเห็นได้จากพวก Product อย่างพวก Aroma เยอะมาก
คุณภาพ
มาที่สายคุณภาพกัน บางคนเลือกเจ้าจากคุณภาพของไฟล์ เราจะบอกว่า หากเราเป็นคนฟังเพลงที่ไม่ได้จริงจังมาก ไม่ได้มี Hardware ที่คุณภาพสูงมาก เราต้องยอมรับว่า Music Stream ทุกตัวที่เราหยิบมาวันนี้ ฟังเทียบเพลงต่อเพลง ฟังแยกแทบไม่ออกแน่นอน แต่ถ้าเรามี Hardware ที่ค่อนข้างให้เสียงคุณภาพสูงจริง ๆ มี DAC ที่ถอดรหัสเสียงคุณภาพสูง จากประสบการณ์ตรงเราเอง เรารู้สึกถึงความต่างแบบสุด ๆ ไปเลย เหมือนเราดูวีดีโอ 480p เทียบกับ 4K แค่เปลี่ยนเป็นเสียงได้เลย
มาถึงตัว Top วงการในฝั่งคุณภาพอย่าง Tidal รายนี้เรียกว่าเป็นผู้นำทางด้านการ Stream ไฟล์เพลงคุณภาพสูงเลยทีเดียว เพราะเขาเป็นเจ้าเดียวในตลาด ณ วันที่เขียน ที่รองรับ Lossless Format คุณภาพสูงลิบอย่าง MQA ทำให้เขารองรับไฟล์เพลงคุณภาพสูงถึง 24-bit, 192 kHz เรียกว่า โคตรสูงมาก ๆ จนเครื่องเล่นส่วนใหญ่ในตลาดเล่นไม่ถึงเลยทีเดียว จะมีแต่พวกเครื่องเล่นที่แพงหน่อยถึงจะดึงประสิทธิภาพระดับนั้นออกมาได้อย่างจริงจัง และ MQA เป็น Format พิเศษ ที่หากเราไม่มีเครื่องเล่นที่รองรับ MQA เราจะเล่นได้ในคุณภาพไม่เต็ม เราเรียกว่า Folded MQA เอาเป็นว่า หากเราต้องการเล่น MQA ได้เต็ม เราจะต้องมีทั้งไฟล์ MQA และเครื่องเล่นที่รองรับ MQA ด้วย ทำให้ในปัจจุบัน Tidal เริ่มกลับไปใช้ Format อย่าง FLAC ที่เป็น Open-Source มากขึ้นแล้ว ดังนั้น ในวันนี้ หากเราใช้งาน Tidal เราสามารถได้รับคุณภาพเสียงสูงสุดได้อย่างแน่นอน อยู่ที่ลำโพง และ DAC ของเราละ เรื่องถอดรหัสไม่ใช่ปัญหาละ นอกจากนั้น หากเครื่องเสียงเรารองรับการถอดรหัส Dolby Atmos แน่นอนว่า เขาก็รองรับเช่นกัน พร้อมกับพวก Surround Format จากฝั่ง Sony อย่าง Sony 360 Reality Audio
อีกเจ้าในไทยที่มาแรง เรื่องการ Stream เพลงคุณภาพสูงเท่ากันเป๊ะ ๆ เป็น Lossless รองรับ Dolby Atmos เช่นเดียวกัน คือ Apple Music ใช่แล้ว ใครจะคิดว่า Apple จะเล่นเกมแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีทั้ง Tidal และ Qobuz (ในตลาด US) แน่นอนว่า เขามาแบบ คุณภาพเท่ากับ Tidal คือ 24-bit, 192 kHz แต่เขา Steam ใน Format พิเศษของเขาคือ ALAC ซึ่ง ณ วันที่เขียน ยังไม่มี DAC ที่รองรับการถอดรหัส Codec นี้แบบ Native เลย เน้นการถอดรหัสผ่าน Software ของ Apple Music เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ Apple Music เหนือกว่าคือ การที่ ไฟล์เสียงคุณภาพสูงของเขา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพลงสากล แต่เพลงไทย บางเพลงเริ่ม Upload มาเป็นคุณภาพแบบ Hi-Res กันแล้ว เช่นเพลงของพี่ Earth Patravee อันนั้นคือเปิดมาเป็น 24-bit, 96 kHz ที่ถือว่าสูงมาก ๆ แล้วสำหรับเพลงไทย แต่เพลงที่รองรับคุณภาพเสียงสูงสุด เรายังไม่เจอในเพลงไทย แต่ไปเจอในเพลงระดับ Legendary อย่าง Hotel California จากวง Eagles ทุกคนต้องลองไปฟัง แมร่งเพลงอมตะของแทร่ ! ทำให้ Apple Music เป็นตัวเลือกที่ดีมาก หากเราต้องการฟังเพลงไทยสากลในคุณภาพสูง
มาฝั่งที่คุณภาพลดลงมาหน่อยใช้ Lossy Format อย่าง Spotify กันบ้าง เจ้านี้เรื่องคุณภาพเสียง อาจจะไม่ใช่ทางของเขาสักเท่าไหร่ เขาไปใช้ Codec อย่าง AAC และ Ogg Vorbis ที่ 320 Kbps เท่านั้น เนื่องจากเป็น Codec ที่ทำให้ไฟล์เพลงมีขนาดเล็กเหมาะสมกับการ Streaming ได้อย่างรวดเร็ว ประหยัด Bandwidth โดยยังคงคุณภาพส่วนใหญ่ของเพลงได้อยู่ แต่ถึงจะใช้ Codec ที่คุณภาพสูงไม่เท่า 2 เจ้าก่อนหน้า หากเราฟังด้วยหูฟังทั่ว ๆ ไป เราบอกเลยว่า ฟังเพลงต่อเพลง แยกไม่ออกแน่นอน โดยเฉพาะพวกหูฟัง True Wireless หลาย ๆ เจ้าที่ถึงเราจะมีไฟล์เพลงละเอียดขนาดไหน ส่วนใหญ่ เราจะใช้ AAC ที่ 16-bit, 48 kHz หรือที่เราเรียกว่า CD Quality เท่านั้น เช่น AirPods ทั้งหลาย เว้นแต่เราไปใช้ Bluetooth Codec พวก LDAC และ aptX ถึงทำให้เราได้คุณภาพสูงขึ้นได้
สุดท้ายคุณภาพแย่ที่สุดคือ Youtube Music ต้องยอมรับว่า เขาเกิดจาก Video Streaming เพลงส่วนใหญ่เขาเกิดจากการ Upload MV และ เพลงเก่า ๆ เข้ามา ทำให้ไฟล์เสียงถูกบีบอัดหนักมาก โดยเขาใช้ Codec แบบ AAC, OPUS ที่ 256 Kbps หากใครที่เคย Encode Video มาก่อน น่าจะคุ้นเคยกับทั้งสอง Codec เป็นอย่างดี เราทดลอง Blind Test โดยใช้ AirPods Pro กับ iPhone 14 Pro บางเพลง เราแยกออกจริง ๆ โดยเฉพาะเพลงที่ไม่ได้ถูก Upload โดยค่ายเพลงโดยตรง เช่นเพลงโปรดของเราจาก Animation เรื่อง The Wind Rises อย่างเพลง "ひこうき雲" หรือภาษาอังกฤษคือ Vapor Trail ของคุณ Yumi Arai มันรู้สึกแตกต่างกันชัดมาก ๆ ยังไม่นับเรื่องที่ บางเพลงที่เอามา Stream เอา MV มาตรง ๆ ซึ่งใน MV มันต้องมีจังหวะเล่าเรื่องอะไรด้วย ทำให้ถ้าเราเปิดแต่เสียงมานั่งฟัง มันมีช่วงที่มีเสียงบรรยากาศแล้วมันแปลก ๆ ไม่เหมือนเราฟังเพลงเต็มปกติ เลยทำให้เราไม่ถูกใจทั้งเรื่องคุณภาพของเพลงส่วนใหญ่ และ บางเพลงที่เอา MV มาเล่น ความแย่กว่านั้นคือ เราไม่รู้เลยว่า มันจะเอาอะไรมาเล่นให้เราฟังเลย ดังนั้นจริง ๆ มันคือแค่ Youtube Video ที่ Stream ในแบบ Audio Only เท่านั้นเอง เศร้าเกิ้นค่าคุณพี่
Application
นอกจากจะมีเพลงให้เราเล่นได้แล้ว ประตูสู่คลังเพลงขนาดใหญ่เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน นั่นคือ Application สำหรับเล่นนั่นเอง ในทุก ๆ ตัวที่เราหยิบมาในวันนี้ มี Application ทั้งใน iOS และ Android ทั้งหมด รวมไปถึง Web Player ทำให้เราตัดเรื่องนี้ไปเลย ทุกคนทำได้หมด
แต่สุดที่เฉือนกัน คือ Application ในฝั่ง Desktop เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้ง เราอยากจะฟังเพลง ระหว่างที่เราทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ของเรา โดยตัว Tidal, Apple Music และ Spotify ทั้งหมดนี้มี Application ที่รองรับทั้งฝั่ง Windows และ macOS หมดแล้ว ที่เราใช้แล้วเราไม่ชอบมาก ๆ คือ Apple Music ฝั่ง Windows ที่เลือกทำ Application ในรูปแบบ WinUI เราเปิดมาครั้งแรก อุทานออกมาว่า "ค_ยอะไรวะเนี่ย !" คือเรื่องการทำงานเสถียร แค่ว่าพอมันอยู่ในรูปแบบของ WinUI ที่เป็น Design Pattern จากฝั่ง Microsoft ที่สไตล์ App ที่มันต้องรองรับ Touch Screen ด้วย มันแอบดูตลกไปหน่อย เราว่ามันดูจะเป็นทุกอย่างมากไปหน่อย จริง ๆ ถ้า Apple ทำ iTunes ต่ออาจจะดีกว่านี้ อีกเจ้าที่ทำลง Microsoft Store ก็คือ Tidal แต่รายนั้นเขายังคง Style การออกแบบคล้ายเดิมอยู่ เลยไม่ด่าละกัน
ฝั่งที่เราขอชมในการออกแบบ Application คือ Spotify โดยเฉพาะในฝั่ง Desktop เขาเลือกใช้ Chromium Embedded Framework (CEF) หลักการง่าย ๆ คือ เขาใช้เว็บทำ Native Application ที่ทำให้ เขาเขียนทีเดียว แล้ว Compile ไปลงได้ในทุก Platform เลยทำให้การใช้งานมัน Consistant แบบสุด ๆ ไม่ว่าเราจะใช้งานบน Windows หรือ macOS เราก็จะยังได้ประสบการณ์ที่เหมือนกันทุกประการ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ในการควบคุมประสบการณ์การใช้งานในพวก Music Streaming App ลักษณะนี้
อีกส่วนคือ การเข้าถึงผ่านพวก Smart TV และลำโพงสมัยใหม่ อันนี้เราขอยกไปเป็นบทความหน้าละกัน มันมีเรื่องของ Streaming Protocol ซึ่งแมร่ง ยาว มาก จริง กลัวจะกลายเป็น Thesis อีกเล่มซะก่อน แค่เล่มเดียวแมร่งก็ชิบหายมากพอแล้ว อย่าเพิ่มความบรรลัยในชีวิตอีกเลยนะ
ราคา
เหนือสิ่งอื่นใด คือ ราคา ทุก ๆ เจ้าตอนนี้เขามาในรูปแบบ Subscription Based ทั้งหมด จ่ายรายเดือนกันไปฉ่ำ ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ นะ เราว่าทุกวันนี้ ราคาที่ทำกันถือว่าถูกมาก ๆ ทำให้คนจำนวนมาก เลิกฟังเพลงผิดสิขสิทธิ์แล้วขยับใช้ Music Streaming กันมากขึ้น
เริ่มจากเจ้าแรกคือ Apple Music เจ้านี้ เราแอบชอบ เพราะเขามีราคาสำหรับนักศึกษา ในราคาเดือนละ 79 บาทเท่านั้น แต่พอเราเป็นผู้ใหญ่ราคาจะไปที่ 139 บาท และ หากเราใช้เป็นครอบครัวจะอยู่ที่ 219 บาทใช้ได้ 5 คน กลายเป็นว่า แต่ละคนจะตกอยู่ 43.8 บาท เราว่ามันจับต้องได้เลยนะ นอกจากนั้น หากเราใช้งานพวก Apple Arcade และ iCloud ด้วย เราสามารถสมัครเป็น Apple One ที่มีบริการทั้งหมดของ Apple ก็จะคุ้มมากเข้าไปอีก
ฝั่ง Spotify เองไม่น้อยหน้า เขามีราคานักศึกษาด้วยเช่นกันคือ 72 บาท เล่นราคาสู้ Apple Music เลย และปกติราคาอยู่ 139 บาท ส่วนใช้งานแบบครอบครัวใช้งานได้สูงสุด 6 บัญชีที่ 219 บาทต่อเดือน หรือตก 36.5 บาทเท่านั้น นอกจากนั้น เราไม่ได้ใช้กันทั้งบ้าน แต่เราใช้กันเป็นคู่ เขายังมีโปรแกรมแบบนั้น ที่ราคา 189 บาท หรือ 94.5 บาท
Youtube เอง เขาจะมีทั้งเฉพาะ Youtube Music และ ซื้อพร้อม Youtube Premium ด้วย เราแนะนำอย่างหลังมากกว่า เพราะราคามันเพิ่มเดือนนึงไม่กี่บาท แต่เราใช้ได้ทั้งคู่ ถ้าใช้คนเดียวจะอยู่ที่เดือนละ 159 บาท แพงกว่าเจ้าอื่น ๆ ไม่มาก แต่เราได้ Youtube Premium ด้วย แอบคุ้มน่ากลัวมาก ส่วนราคานักศึกษาอยู่ที่ 95 บาท และครอบครัวอยู่ที่ 239 บาทสำหรับ 5 บัญชี ทำให้ราคาต่อบัญชีอยู่ที่ 47.8 บาท
สุดท้าย Tidal ราคาดุดันที่สุด และ มีการแบ่ง Tier เป็น HiFi และ HiFi Plus โดยตัวหลัง จะทำให้เราได้ไฟล์เสียงคุณภาพสูงสุด ราคาอยู่ที่ 139 บาท และ 258 บาทตามลำดับ และสำหรับครอบครัวใช้ได้ 6 บัญชีอยู่ที่ 219 และ 387 สำหรับ HiFi และ HiFi Plus ตามลำดับ หากหารออกมาต่อบัญชีจะอยู่ที่ 36.5 บาท และ 64.5 บาท
ถ้าเรามองกันแค่เรื่องราคา เราคิดว่า Youtube Music แอบเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด เพราะเขารวม Service อย่าง Youtube Premium แล้วได้ราคาแพงกว่าเจ้าอื่น หรือถูกกว่าบางเจ้าด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราอยากได้ Lossless Steaming ราคาถูกสุดน่าจะเป็น Apple Music เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว เพราะเทียบกับ Lossless Streaming อีกเจ้าอย่าง Tidal ราคาต่างกันลิบลับ
สรุป : เลือก Music Streaming เจ้าไหนดีในปี 2024
การจะบอกว่า เลือกเจ้าไหนดีที่สุดในปี 2024 นี้ เราคิดว่าน่าจะไม่แฟร์สักเท่าไหร่ เพราะแต่ละเจ้าเขามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราขอยกเป็นเคสว่า หากเราเน้นเรื่องไหนน่าจะสมัครเจ้าไหนดีกว่า
ความคุ้มค่า เราต้องยกให้ Youtube Music เพราะราคาเมื่อรวม Youtube Premium แล้วมันเป็นดีลที่ดีมาก ๆ ทำให้เราได้ทั้งฟังเพลงและดู Youtube แบบไม่ต้องมี Ads เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลย แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือ คุณภาพไฟล์เสียง ที่เราต้องบอกว่า มันฟังออกได้จริง ๆ นะ หากรับเรื่องนี้ได้ Youtube Music เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับคุณแล้ว
การใช้งานทั่วไปกลาง ๆ ในราคาเร้าใจ ฝั่งนี้ เรายกให้ Spotify เลย เพราะระบบการแนะนำเพลง ที่ทำให้เรา Discover เพลงใหม่ ๆ เข้าถึงเพลงอื่น ๆ ในคลังเพลงขนาดใหญ่ของเขา และยังเป็น Platform ที่มักจะได้ลงเพลงเร็วกว่าเจ้าอื่น ๆ ด้วย น่าจะทำให้การฟังเพลงของคนทั่ว ๆ ไปสนุกมากแล้ว แต่ก็ต้องแลกมากับคุณภาพแบบ Lossy ที่อาจจะสูงสุดในกลุ่ม Lossy แต่ก็ยังสู้พวก Lossless ไม่ได้ หากเราใช้พวกเครื่องเล่นคุณภาพสูง เรามองว่าเรื่องพวกนี้ เรามองข้ามไปเลยก็ได้ การใช้ Spotify เป็นตัวเลือกที่ดีมาก ๆ
คุณภาพเสียงเยี่ยม เพลงจำนวนมาก เรื่องนี้ เรายกให้ Apple Music จากทั้งคลังเพลงที่อาจจะสู้ Spotify ไม่ได้ แต่เพลงที่เราน่าจะฟังกันทั่ว ๆ ไป เราคิดว่ามีเหมือนกัน แต่คุณภาพของเขาดีกว่ามาก ๆ โดยเฉพาะไฟล์เสียงแบบ Lossless คุณภาพแบบ Hi-Res ทั้งเพลงไทยสากล และ เพลงสากล สิ่งที่อาจจะต้องแลกมาหน่อยคือ เรื่องของการ Discover เพลงใหม่ ๆ ที่ยังสู้พวก Spotify ไม่ได้ แต่ถ้าเรารับได้ Apple Music เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ไฟล์ MQA ในงบไม่อั้น อันนี้ไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว มีแค่ Tidal เท่านั้นแหละ หากเรามีเครื่องเล่นที่รองรับ MQA และ Hardware ดุ ๆ เสียงหูทอง เน้นคุณภาพไฟล์จริงจัง Tidal เป็นคำตอบที่ดี แต่แลกมากับ คลังเพลงไทยสากล เราคิดว่ายังสู้เจ้าอื่น ๆ ที่ยกมาในวันนี้ไม่ได้เลย ห่างไกลมาก ๆ ถ้ารับได้ก็ใช้ได้
ทั้งหมดนี้คือ 4 ตัวเลือกที่ทำการตลาดในประเทศไทยเรา ณ ปี 2024 นี้ เราต้องรอดูกันต่อว่าในปีนี้ และต่อ ๆ ไป ตลาด Music Streaming Service ในประเทศไทยจะมีการแข่งขันกันดุเดือดขนาดไหนทั้งในเรื่อง ราคา และคุณภาพการให้บริการ ก่อนจากกัน มาบอกกันหน่อยว่า ตอนนี้ทุกคนใช้เจ้าไหน เพราะอะไรกัน