WiFi 6E คืออะไร ? ทำไมถึงน่าสนใจ ?
มาตรฐาน WiFi สำหรับท่านที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ เป็นมาตรฐานสำหรับการเชื่อมต่อ WiFi ที่ทุกคนใช้กันตอนนี้เลย ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะเคยได้ยินว่ามันจะเป็นมาตรฐาน IEEE802.11 แล้วลงท้ายด้วย a,b,g,n,ac และ ax แต่เพื่อความง่ายต่อการเรียกมากขึ้น IEEE ได้ทำการเปลี่ยนเป็นตัวเลขแทน ซึ่งใน Version ล่าสุดที่เราใช้งานกันอยู่ก็น่าจะเป็น WiFi 5 กับ WiFi 6 สำหรับอุปกรณ์ใหม่ ๆ กันแล้ว อาจจะมี WiFi 4 สำหรับพวก IoT อยู่บ้างก็มีเหมือนกัน แต่มาตรฐานที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้เป็น WiFi 6E ที่เป็นมาตรฐานที่เหนือกว่า WiFi 6 ที่แรงอยู่แล้วให้แหล่มแมวเข้าไปอีก มันจะเจ๋งยังไง วันนี้เราจะมาอธิบายให้อ่านกันแบบง่าย ๆ
ปล. WiFi 6E ไม่ใช่มาตรฐานใหม่อะไรเลยนะ มันออกมานานมากแล้วตั้งแต่แถว ๆ ปี 2020 แล้วแต่ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ เพราะการจัดสรรย่านความถี่ในแต่ละประเทศยังไม่อนุญาติให้ใช้ ย่านความถี่ 6 GHz ส่วนวันนี้บางประเทศใช้งานได้แล้ว ไทยก็รอกสทชหน่อยละกัน
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ WiFi
ก่อนที่เราจะไปลงเรื่องของ WiFi 6E กัน เรามาทำความรู้จักกับ WiFi กันก่อน เพราะจริง ๆ แล้วหลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่า มันเป็นอะไรที่วิเศษมาก ๆ ทำให้เราสามารถต่อ Internet แบบไร้สายได้ แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า การคุยกันด้วยสัญญาณวิทยุเลย (Radio Frequency)
ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว WiFi ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ทำงานอยู่บนย่านความถี่ที่ 2.4 GHz และ 5 GHz อยู่แล้ว เราอาจจะคุ้นเคยกับ WiFi บ้านเราเองนี่แหละ ที่เราอาจจะเจอชื่อ WiFi (SSID) บ้านเราต้องแยกเป็น ชื่อแล้วตามด้วย 2.4 และ 5G นี่แหละมันคือการแยกชื่อ WiFi ตามย่านความถี่ แต่สำหรับบน Access Point ที่ดี ๆ หน่อย เขาก็จะมีพวก Band Steering ที่จะเลือกย่านความถี่ที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เอง ผู้ใช้ก็จะเห็นแค่ชื่อ WiFi ของเราอันเดียวเท่านั้นก็มี
ความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานเลย ถ้าเราใช้ย่านความถี่ที่สูงกว่าในการส่ง จะทำให้ระยะทางมันไปได้สั้นกว่าแน่นอน เมื่อเทียบกับเราส่งด้วยย่านความถี่ที่ต่ำกว่า มันก็มี Data Rate หรืออัตราในการส่งข้อมูลต่อหน่วยเวลาที่น้อยกว่าด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการ Trade-off กันละกันนะ ทำให้ในย่าน 2.4 GHz ข้อดีของมันคือระยะที่ไกลกว่ามาก เราตั้ง Access Point จุดนึง กระจายสัญญาณได้ไกลมาก ๆ แต่ความเร็วในการเชื่อมต่อก็คือช้ากว่า 5 GHz แน่นอน ส่วน 5 GHz เองก็มีข้อดีในการรับและส่งข้อมูลได้เร็วกว่า 2.4 GHz มาก ๆ แต่ระยะก็น้อยลงไปอีก
แต่ ๆ ปัญหาของมันอยู่ที่ว่า เมื่อ WiFi มันราคาถูกลง คนก็เข้าถึงได้มากขึ้น เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยนะว่า แทบจะทุกที่ก็มี WiFi เป็นของตัวเองหมดเลย ตั้งแต่ธุรกิจห้างร้าน จนไปถึงห้องใน Condo สูง ๆ ก็มีเหมือนกัน ทำให้มันเกิดเรื่องนึงที่ขึ้นมาที่เราเรียกว่า Congestion
เพราะการติดต่อผ่านสัญญาณวิทยุ มันมีการกำหนด ช่วง ของคลื่นความถี่ที่สามารถรับและส่งได้ ต้องเข้าใจว่า ในคลื่นสัญญาณ มันมีช่วงที่เราใช้ได้จำกัด บางย่านความถี่อาจจะเอาไปใช้กับพวก Cellular Network ต่าง ๆ เช่น 2100 MHz ที่เราใช้กับ 5G และ LTE เป็นต้น ดังนั้น ใน WiFi เอง มันก็จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่าบนย่าน 2.4 GHz เราจะมีพื้นที่อยู่ประมาณ 80 MHz ในการขนส่งข้อมูล และสำหรับ 5 GHz ก็จะเยอะหน่อยคือ 500 MHz ไปเลย ถือว่าเยอะมาก ๆ
ถ้าเปรียบเลขความกว้างพวกนี้มันก็เหมือนกับถนนนั่นเองที่เลขยิ่งเยอะ ก็เหมือนกับถนนที่กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราคิด ๆ ดูมันก็น่าจะน่าเสียดายมากเลยนะ ถ้าเราบอกว่า เรามีถนนกว้างขนาดนั้น แต่เราก็ใช้งานมันคนเดียว
ดังนั้น มันเลยมีการซอยย่านความถี่ภายใน 2.4 และ 5 GHz ออกมาเป็นช่อง ๆ เสมือนกับเราแบ่งเลนให้รถวิ่งไปมานั่นเอง ความเจ๋งอีกอย่างคือ เราสามารถเลือกได้ด้วยว่า เราจะจองเพื่อใช้กี่เลนในการขนส่งข้อมูลเช่น เราอาจจะบอกว่าบนย่าน 5 GHz เราต้องการใช้ 80 MHz การส่งข้อมูล ก็ทำได้ แต่ ๆ ปัญหามันก็จะไปอยู่ที่ว่า เราจองเลนทับกับเพื่อนบ้าน หรือคนที่อยู่ใกล้ ๆ เรามั้ย
เช่น บ้านข้าง ๆ ใช้ Channel ที่ 1-4 อยู่แล้วเราก็เรียกใช้ Channel เดียวกันพอดี หรือกระทั่งจองความถี่เยอะจนทำให้ Channel. ทับกัน มันก็เปรียบได้กับ ถนนเส้นนั้น มันมีรถของทั้งเรา และ ข้างบ้านวิ่งด้วยกันอยู่ แน่นอนว่า มันอาจจะมีการชนกันได้ ทำให้การเชื่อมต่ออาจจะมีสะดุด หรือช้ากว่าที่ควรจะเป็นได้ นี่แหละคือปัญหาของ WiFi ณ วันนี้ เพราะจำนวนคนใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวน Channel มันมีจำกัด เลยทำให้ WiFi 6E ต้องแก้ไขปัญหานี้
การมาถึงของย่าน 6GHz
การแก้ปัญหาของ WiFi 6E คือในเมื่อช่องความถี่ 2.4 และ 5 GHz มันแน่นแล้วเนี่ย เราก็หาย่านความถี่อื่นมาเสริมสิ เออ เอาแบบนี้เลย โดยที่เขาเห็นว่าย่าน 6 GHz มันเป็น Unlicensed อยู่แล้ว เลยกำหนดมาเป็นมาตรฐานซะเลย ทำให้ใน WiFi 6E เราก็จะมีอีกย่านขึ้นมาคือ 6 GHz ไปเลย แน่นอนว่า ระยะการส่งสั้นกว่า 5 GHz แน่นอน เอาจริง ๆ นะ ของเดิมก็สั้นอยู่แล้ว อันนี้สั้นหนักเลย
แต่เรื่องที่ต้องยอมมันเลยคือ ความถี่ที่สูงขึ้นนั่นหมายความว่า มันสามารถส่งข้อมูลได้เร็วมาก ๆ กว่าย่าน 2.4 และ 5 GHz แน่นอน พร้อมกับความกว้างของสัญญาณถึง 1200 MHz เลย คือแบบว่า กว้างมาก ๆ เพราะเราสามารถใช้ถนนโดยที่เราไม่ทับไลน์กันเลย ได้ถึง 59 ช่องสัญญาณ หรือถ้าเราซอยแบบเอาช่องใหญ่ ๆ เลย 160 MHz ไปเลย มันจะมีถึง 7 ช่องให้เราเลือกใช้เลย คือ โหดมาก !!! ประกอบกับย่าน 6 GHz มันถี่มากไปได้สั้น ดังนั้น โอกาสที่เราจะตบกับข้างบ้าน หรือข้างห้องเพื่อแย่งช่องสัญญาณก็น้อยลงไปด้วยอีก ช่องเยอะแล้วใช้กันระยะสั้น ๆ ยิ่งสบายเลย
แต่ ๆ ณ วันที่เราเขียน เรายังไม่เห็นพวกอุปกรณ์ที่เป็น WiFi 6E และรองรับ 6 GHz มาเลยนะ คิดว่า กสทช น่าจะยังไม่อนุมัติให้ใช้งานเป็น Unlisensed ในไทยละมั้งนะ แต่ถ้าเข้ามา มันจะทำให้อลังการงานสร้างสนุกเข้าไปอีกเยอะ
Mesh WiFi ที่โหดขึ้นอีกขั้น
ต้องยอมรับเลยว่า ณ วันนี้เองที่เราใช้ย่านความถี่ 5 GHz บน Access Point ปกติ (ไม่นับพวก Long Range ของระดับ Business/Enterprise) มันจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้เพียง 1 ชั้น หรือไม่กี่ห้องเท่านั้น ทำให้เราจะต้องมี Solution เข้ามาช่วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการใช้ Mesh WiFi
บางตัวดีหน่อยที่เราสามารถเสียบสายเพื่อเป็น Uplink ต่อไปที่ตัวหลักได้เลย แต่บางตัว หรือ บางบ้าน ก็ไม่สามารถที่จะเดินสายใหม่ได้ อาจจะเพราะยุ่งยาก หรืออะไรก็ตามทำให้เราจะต้องใช้วิธีการคุยกับ Access Point หลักด้วย WiFi กันเองนี่แหละ ถ้าเราบอกว่าเราใช้ย่าน 5 GHz เราก็จะต้องเสียเวลาในการสลับไปมาระหว่าง เรากับ Access Point นั่นเอง ทำให้บาง Mesh System เขาจะทำเสาสำหรับ 5 GHz แบ่งเป็น 2 เสาเลย โดยเสานึงไว้คุยกับอุปกรณ์โดยตรง กับอีกเสาไวคุยกับ Access Point ตัวก่อนหน้าได้เลย ทำให้มันทำงานทั้งคู่ได้พร้อม ๆ กันเลย
แต่เมื่อเรามี WiFi 6E บนย่านความถี่ 6 GHz ช่วงแรก ๆ ที่อุปกรณ์ยังรองรับไม่เยอะ เราสามารถปรับให้ย่านความถี่ 6 GHz ใช้เพื่อคุยกับ Access Point ใกล้เคียงได้ ทำให้เราที่เชื่อมต่อ 5 GHz อยู่สามารถทำงานได้ความเร็วสูงสุดเท่าที่มันจะทำได้เลย เป็นการลดปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเราใช้งาน Mesh WiFi ได้เป็นอย่างดี
เราจำเป็นต้อง Upgrade จริง ๆ เหรอ
การที่เราจะใช้งาน WiFi มาตรฐานอะไรได้ เราจะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ และ อุปกรณ์สำหรับปล่อยสัญญาณ (Access Point) ทั้งคู่จะต้องรองรับกันนะ ถึงจะใช้งานได้ ดังนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่า อุปกรณ์ที่เราใช้ ไม่ได้รองรับการทำงานของ WiFi 6E การ Upgrade Access Point ก็ไม่ได้ช่วยอะไรอยู่ดีนะ เพราะเราก็จะรับเท่าที่โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ของเรารองรับได้นั่นเอง
แต่ถ้าเราบอกว่า ไม่เป็นไร อิชั้น สายเปย์จ๊ะแม่ เราได้หมดเลย จะเปลี่ยนอะไรก็ได้ เราอยากให้มองเรื่องของความจำเป็นกันก่อน ไม่ต้องไปถึง WiFi 5 เอง ณ วันนี้พวกอุปกรณ์ราคาถูกมาก ๆ และ ส่วนตัวเรามองว่า บ้านไหนที่ไม่ได้ใช้ WiFi เยอะ เน้นเสียบสายซะเยอะ ใช้ WiFi ไม่กี่เครื่อง แล้วก็แค่ดู Netflix ไม่ได้โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ ๆ ตลอดเวลา เรามองว่า เรายังไม่จำเป็นต้องไปหาทำ เอาเงินไปฟาดกับ WiFi ใหม่ ๆ เลย เราประหยัดเงินเอาไปลงอย่างอื่นดีกว่าเยอะมาก
แต่ถ้าใครบอกว่า ที่บ้านเราใช้ WiFi เยอะมาก ๆ ต้อง Transfer ไฟล์ขนาดใหญ่มาก ๆ บ่อย เชื่อมต่ออุปกรณ์เยอะ ๆ เรามองว่า พวกนี้แหละมองหาอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานใหม่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะได้เชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่ Access Point และ อุปกรณ์ของเราจะรองรับได้ จะได้ล่นเวลาในการทำงานไปได้เยอะเลย
สรุป
WiFi 6E เป็นส่วนต่อขยายของ WiFi 6 ที่นำย่านความถี่ใหม่อย่าง 6 GHz เข้ามาใช้งานเพื่อลดการติดขัด และ ล้นของช่องสัญญาณที่เราใช้งานกันบนย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz ด้วยช่องจำนวนมากถึง 59 ช่องไปเลยบนย่านความถี่ 6 GHz แถมยังความถี่สูงขนาดนี้ เรื่องความหน่วง ความช้าคือน้อยลงแน่นอน ดีมาก ๆ เลยละ แต่ ๆ ณ วันที่เขียนในไทยเราก็ยังไม่สามารถใช้งาน WiFi 6E ได้เด้อ อาจจะต้องรอ กสทช จัดสรรย่านความถี่ให้เสร็จก่อน อุปกรณ์ทั้งหลายจะได้เข้ามา Register ใช้งานได้