Upgrade Synology DS1621+ ไปให้สุด แรงจี๊ดดดด
ตอนก่อนหน้า เรารีวิว Synology DS1621+ ไปแล้ว กลับไปอ่านได้ ที่นี่ แต่จะบอกว่า ซื้อมาแล้วจบเลยมันก็ไม่มันส์อะสิ เพราะเราเอามาใช้เป็น Server หลักทั้งเรื่องของ Web นี้ และ ระบบ Service ในบ้านอื่น ๆ อีกเยอะเลย ทำให้วันนี้ เราจะมาทำการ Upgrade เจ้า NAS เครื่องนี้กัน
NVMe
เริ่มที่ NVMe กันก่อนในกล่องมันจะไม่มี NVMe มาให้เลยนะ ว่าง 2 ช่องเลย พอดีว่า เรามี NVMe เหลือเป็น Intel SSD 660p และเราอยากเอามาทำ RAID เราเลย ต้องไปหา SSD มาอีกลูก แต่ว่า Intel SSD 660p มันแอบหายากไปหน่อย เลยมองหาอะไรที่มันง่ายกว่านั้น และให้ Space ที่ใกล้เคียงกันหน่อย หวยเลยออกมาเป็น WD Blue SN550 แน่นอนว่า WD เอง เรามั่นใจอยู่แล้ว เพราะพวก Storage ส่วนใหญ่ในบ้าน เราใช้ WD หมด จนถึง HDD ใน NAS ก็เป็น WD Red หมดเลย
การใส่ ก็ไม่ได้ยากเลย ก่อนที่เราจะเอา HDD ใส่เข้าไป มองเข้าไปที่ข้างซ้าย ด้านในตัวเครื่อง เราจะเห็นช่องสำหรับใส่ NVMe Drive อยู่ทั้งหมด 2 ช่อง สิ่งที่เจ๋งของมันคือ เป็นแบบ Toolless เลย คือ เราสามารถเสียบ SSD แล้วกดลงไปมันจะล๊อคเองเลย โดยที่เราไม่ต้องมานั่งหาสกรูอะไรให้ปวดหัวเลย
สาเหตุที่เราเลือกเอา Intel SSD 660p มาใส่ กับอีกตัวเป็น WD Blue SN550 เพราะเอาเข้าจริง ๆ เราไม่ได้ใช้ IOPS เยอะขนาดนั้น ขอแค่เราลด Latency ในการเรียกลงได้ เราโอเคละ ไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ เราไม่ได้ใช้ใน Bandwidth ที่สูงขนาดนั้น สุดท้าย ทำให้เมื่อรวมออกมา เราเลยจะได้พื้นที่ประมาณ 1 TB ชิว ๆ
RAM
อันถัดไปที่สนุกขึ้นอีก ก็จะเป็น RAM เลย โดยเราจะต้องใช้ไขควง หมุนน๊อตตรงฝาที่อยู่ใต้เครื่องออกมา ก่อนจะทำ แนะนำว่า อย่าพึ่งเอา HDD ใส่เข้าไปนะ หรือ ถ้าใส่ HDD อยู่ เอามันออกก่อนเราจะแกะนะ คว่ำไปคว่ำมา HDD พังหมด
เมื่อเราเปิดฝาออกมา เราจะเจอกับช่องใส่ RAM ที่ Synology เขาจะใส่ RAM มาให้แล้วละขนาด 4 GB แบบ ECC เลย ยี่ห้อของ Synology เอง
โดยที่ Synology เขาจะแนะนำให้ใช้ Memory Module ของเขาแหละ แต่แน่นอนว่า มันแพง อันนี้เราจ่ายเองเลย เลือกที่จะไม่เอาของ Synology ไปใช้ยี่ห้อปกติแทน ก็จะเป็นพวก RAM Laptop ธรรมดานี่แหละ ที่เป็น DDR4 2666 MHz ซึ่งหาไม่ยากเลย
โดย RAM ที่เราเลือกมา Upgrade อันนี้ก็คือเป็น RAM จาก Kingston รุ่น Fury DDR4 2666 MHz เหมือนกันเลย แต่ขนาดจาก 4 GB เป็น 8GB ทั้งคู่เลย ทำให้เรามี RAM เป็น 16 GB ด้วยกัน แต่ RAM ที่เราใส่นั้นจะไม่ใช่ ECC เด้อ เพราะมันแอบแพงกว่า และ เราไม่ได้ต้องการ Reliability เยอะขนาดนั้น เราเลยไม่ซื้อ ECC Memory แต่มันใช้ได้นะ เพราะเอาจริง ๆ Ryzen คือดีย์นะที่มันเปิดให้ใช้ ECC Memory ในทุก ๆ รุ่นของ Ryzen รวมไปถึงพวก Low-Power CPU ของ V1500B เอง
PCIe Card
สุดท้ายเป็น PCIe โดยเราจะใส่ 8x ได้ 1 ช่องด้วยกัน เราเลือกที่จะใส่เป็น NIC ที่เป็น SFP+ 10G ของ Intel อันนี้เหมือนกันนะ ที่ Synology เขาก็แนะนำให้ใช้ของเขานะ แต่เราจ่ายเอง เพื่อประหยัดหน่อย เราก็ถอดเอาจาก NAS เก่าแหละ แต่ Bracket เก่า มันจะเป็น Bracket สำหรับเครื่อง Desktop ทั่ว ๆ ไปใส่กับ Synology NAS ไม่ได้
แต่โชคดีที่ NIC มันแถม Low-Profile Bracket มาให้ในกล่องด้วย เราก็แค่ไขน๊อตออกแล้วเปลี่ยนเป็น Low-Profile Bracket ภายใน 2 นาทีก็เรียบร้อย พร้อมจะเอาใส่ใน NAS แล้ว โดยเราจะเห็นว่า Bracket มันจะสั้น ๆ กว่าปกติเยอะมาก
การเข้าถึงช่อง PCIe จะยากสุดละ โดยเราจะต้องไขน๊อตด้านหลังออกหลายตัวอยู่
หลังจากเอาน๊อตฝาออก ให้เราวางเครื่องให้ถูกด้านนะ แล้วเราจะยกฝามันขึ้นมาได้ เราจะเห็นว่ามันจะมีช่อง PCIe ให้เราอยู่ช่องนึง ก่อนจะเสียบเราก็เอาฝาปิดที่เขาใส่มาให้ออกไปก่อน
จากนั้น เราก็เอา Card เสียบเข้าไปแล้วไขน๊อตกลับเข้าไปก็จบละ ง่าย ๆ สบาย ๆ เรื่องนึงที่เราเข้าใจเลยว่า ทำไมมันต้องทำรูระบายอากาศข้าง ๆ เพราะข้างนึงก็จะเป็นที่อยู่ของ Card เรานี่แหละ ที่อย่างถ้าเป็นของ Synology เองมันมี Card ที่เป็น 10GbE ควบกับ NVMe จำนวน 2 ช่อง กับอีกด้านเป็น PSU ก็คือ สร้างความร้อนมหาศาลเลยละ การมีรูช่วยระบายความร้อนเลยเป็นเรื่องดีมาก ๆ
สรุป
หลัก ๆ ก็จะมีเท่านี้แหละ เราไม่ได้อัพสุดอะไรเท่าไหร่ งบมีเท่านี้แหละ ฮ่า ๆ จริง ๆ อยากได้ RAM สัก 32 GB ไปเลยสุด ๆ สำหรับรันพวก Vitualisation และ Docker Container ต่าง ๆ แบบไม่อึดอัดเท่าไหร่ กับ Card ที่เป็น 10 GbE กับ NVMe เพิ่มอีก 2 ช่องนี่แหละ ไว้รอบหลังละกันนะ แต่ถามว่า เท่านี้ถือว่าก็เดือดแล้วนะสำหรับการใช้งานในระดับ Production จริง ๆ ที่เอามาเก็บไฟล์ แล้วก็รันพวก VM และ Docker ที่เยอะ ๆ หน่อย แนะนำเลยว่า ถ้ารันพวก VM เยอะกว่านี้หน่อย เรามองว่า การเพิ่ม RAM เป็น 32 GB ก็ตอบโจทย์เลยนะ