รวมมิตรคำถามก่อนติด Solar Cell

ก่อนหน้านี้ เรารีวิวการติดตั้ง Solar Cell ที่บ้านไปแล้วที่ บทความ นี้ เราได้เล่าเรื่องของ Process ในการติดตั้งต่าง ๆ ไปแล้ว หลาย ๆ คนมาถามเราในเรื่องของการดูสเปกความต้องการ และ การใช้งานต่าง ๆ วันนี้เราจะมาตอบคำถามเหล่านี้กัน

Solar Cell ผิดกฏหมายรึเปล่า ?

คำถามแรกที่เราโดนถามเยอะมากคือ การใช้งาน Solar Cell มันผิดกฏหมายรึเปล่า เอ่อ.... โอเค จริง ๆ แล้ว มันไม่ผิดกฏหมายนะถ้าเราขออนุญาติอย่างถูกต้อง ซึ่งถ้าเราจะติดตั้งด้วยตัวเอง เราแนะนำให้ไปสอบถามเรื่องการขออนุญาติต่าง ๆ กับการไฟฟ้าสาขาที่ดูแลบ้านของเราก่อน เขาน่าจะให้ข้อมูลตรงนี้ได้ หรือถ้าเราใช้บริการพวกบริษัทที่รับติดตั้ง ส่วนใหญ่เขาก็จะไปดำเนินเรื่องให้เราเรียบร้อย พร้อมใช้งานได้เลย

เลือกติดกับเจ้าไหนดี ?

ในประเทศไทยเรามีบริษัทหลายเจ้าที่รับบริการติดระบบ Solar Cell ถามว่า แล้วเราจะเลือกติดกับเจ้าไหนดีละ ในการเลือกจริง ๆ แล้วเราอยากให้มองเรื่องของบริการหลังการขายเป็นหลัก เพราะระบบ Solar Cell มันจะอยู่กับเราอย่างน้อย 25-30 ปี ถ้าเกิดบริษัทที่เราเลือก กว่าจะติดต่อได้ มันรอสายไปรอสายมา กว่าช่างจะมาได้ แล้วเราต้องอยู่กับแบบนี้นานมาก ๆ มันก็ไม่โอเคแน่ ๆ

ตัวอย่างที่ดูแล้วชอบมาก อยากได้แบบนี้คือ จากวีดีโอด้านบนนี้เลย ที่เขาเจอปัญหาหลังคารั่วกลางคืนที่ฝนตก ก็มี Tesla มีช่างซ่อมหลังคาฉุกเฉินมาเลย คือ เอ่ออออ ไม่เคยเจอบริษัทในไทยที่ทำได้ขนาดนี้ ฮ่า ๆ

เราควรจะต้องติดที่กำลังผลิตเท่าไหร่ ?


เวลาเราไปดูราคาการติดตั้ง Solar Cell จากที่ต่าง ๆ เราจะเห็นว่า เขาจะมีเสนอให้เราหลาย Package ด้วยกัน ตั้งแต่ 1.5 kWp ยาวไปถึง 20 kWp แล้วแต่บริษัท ตัวอย่าง บริษัทที่ติดตั้งบ้านเรา ถ้าเป็นไฟบ้าน 1 Phase สูงสุดมันจะมีอยู่ที่ 5 kWp

ยิ่งกำลังผลิตสูง ราคาก็ยิ่งสูง และ ขนาดพื้นที่ ในการติดตั้งก็ต้องใช้เยอะขึ้นเช่นกัน ดังนั้น สำหรับการตอบคำถามว่า เราต้องติดตั้งเท่าไหร่ เราแนะนำให้ไปสอบถามกับ Sale ของบริษัทที่เราเลือกติดตั้งได้เลย สิ่งที่เราต้องบอกเขาคือ จำนวนของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เยอะ ๆ เช่น แอร์ และ พวกเครื่องอบผ้า

โดยเฉพาะบ้านที่มีการใช้พวก EV พวกนี้มันใช้ไฟเยอะมาก ๆ แบบมากจริง ๆ ถ้าเราไม่คำนึงถึงเลย พอเวลาเราเสียบชาร์จไฟ EV จริง ๆ สุดท้ายมันจะทำให้ เราไม่ได้ใช้ไฟจาก Solar เลย เพราะ EV มันดึงไปใช้หมด สุดท้ายเราต้องเสียบไฟจากการไฟฟ้าแทนไป มันจะไม่พอใช้งาน

สำหรับบ้านเราเอง เปิดแอร์กัน 2-3 ตัว กับ Server อีก และค่าไฟต่อเดือนกดไป 4000 กว่าบาท ทำให้เราเลือกที่จะติดในกำลังผลิตเยอะที่สุด เท่าที่ไฟบ้านเราจะรับได้คือ 5kWp ซึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว 5 kWp ตัว p คือคำว่า Peak หรือก็คือ ถ้าเราติด 5 kWp ก็คือ ในระบบของเราจะสามารถผลิตได้ที่ 5 kW สูงสุด แต่ในความเป็นจริง มันเป็นไปได้ยากมาก ๆๆๆๆๆ ที่จะเป็นแบบนั้น ซึ่งอาจจะเกิดจาก มุมของหลังคาที่ยิ่งชัน ก็ยิ่งลดพลังงานที่จะได้ หรือจะเป็นเรื่องของความสะอาดของแผงก็ส่งผลเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเราบอกว่าเราน่าจะใช้ไฟ 3 kW เราควรจะติดมากกว่านั้นเผื่อของจริงมันได้ไม่ถึง

แผง Solar Cell มีหลายแบบ เราควรเลือกแบบไหน ?

ถ้าเราลองไปดูตามบริษัทต่าง ๆ ที่รับติดตั้ง Solar Cell ในไทย ในกำลังการผลิตที่เท่ากัน แต่ทำไมเจ้านึงแพง เจ้านึงถูก ส่วนนึงมันก็มาจากราคาของแผง Solar Cell นี่แหละ ที่มันมีหลัก ๆ 2 แบบด้วยกันคือ Monocrystalline และ Polycrystalline ทั้ง 2 แบบนี้คือสามารถผลิตไฟได้จากแสงเหมือนกัน สิ่งที่มันต่างกันอย่างชัดเจนคือกำลังไฟสูงสุดที่ผลิตได้ต่อแผง แต่ความต่างนอกจากนั้นคือ พวกแผง Mono มันมีความ Sensitive ต่อแสงมากกว่า ทำให้ถ้าเจอแสงเท่ากัน แผง Mono จะผลิตได้เยอะกว่า Ploy แน่นอน แต่ข้อด้อยของแผงแบบ Mono คือ เมื่อมันเจอความร้อนมาก ๆ อัตราการผลิตพลังงาน มันทำได้ต่ำลง เผลอ ๆ เมื่อเจอแดดเมืองไทยเข้าไปประสิทธิภาพน่าจะลดหนักอยู่

นอกจากนั้นแผงแบบ Mono ยังมีราคาแพงมากกว่าแผงแบบ Poly อีกด้วย ทำให้ในการติดตั้งในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน และมีแสงแดดตลอดทั้งปี เราไม่แนะนำให้ติดแผง Mono เท่าไหร่ เพราะมันจะแพง ส่วนเรื่องความ Sensitive เรามองว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะแดดประเทศเรานั้นก็รู้กันอยู่ ไม่ว่าจะฤดูไหนก็ไหม้กันได้หมดอยู่แล้ว

ปัญหานึงของการใช้ Solar Cell คือ เมื่อมันเจอพวกเงาไม้ แผงนั้นก็คือจบ ผลิตไฟได้น้อยมาก ๆ ทำให้ทั้งระบบของเราผลิตไฟได้น้อยลงมาก ๆ ทำให้เขาแก้ปัญหาด้วยการที่ ผลิตแผงที่ใน 1 แผงแบ่งออกเป็น 2  ส่วน ทำให้ถ้าแผงโดนเงาครึ่งนึง อีกครึ่งก็ยังทำงานได้อยู่

ซึ่งแผงที่ตัดแบ่งครึ่ง เราจะเรียกว่าแผงแบบ Half-Cut Cell ไส้ของมันจริง ๆ แล้วคือ มันหันครึ่ง 2 แผง และต่ออนุกรมเข้าด้วยกัน ทำให้แม้ว่าจะมีอะไรมาพังที่ครึ่งนึงของแผง อีกครึ่งนึงของแผงก็ยังคงทำงานได้อยู่เหมือนเดิม แต่เพราะการออกแบบ และ การผลิตที่ยุ่งยากขึ้น ทำให้ราคาก็แพงขึ้นเช่นกัน

สำหรับการเลือกใช้งานระหว่าง Half-Cell กับ Full-Cell เลย เราแนะนำให้ดูก่อนว่า พื้นที่ที่เราจะติดตั้งนั้นมีตรงไหนมั้ย ที่อาจจะมีเงาบังในระหว่างวัน ถ้าเป็นหลังคาโล่ง ๆ เลย เราแนะนำ ไม่ ให้ติดแบบ Half-Cell เพราะราคามันสูงกว่าแบบ Full

อ่านถึงตรงนี้แล้ว เราสรุปเรื่องของการเลือกแผงเลยละกัน เราแนะนำว่า การติดตั้งในประเทศไทย เราว่าใช้แผงแบบ Ploy Full-Cell ก็ถือว่าเพียงพอกับบ้านทั่ว ๆ ไปในประเทศไทยแล้ว ส่วนแผงพวก Mono เราว่าน่าจะเหมาะกับต่างประเทศที่อาจจะมีหิมะตก หรือ มีแสงแดดที่อาจจะอ่อนกว่าไทยน่าจะเหมาะกว่า ที่สำคัญเลย การเลือกแผงแบบนี้ทำให้ราคาของแผงก็จะถูกกว่าด้วยเช่นกัน

เราควรติด Battery ด้วยมั้ย ?

ถ้าเราไปดูรีวิวของที่ต่างประเทศ เช่น USA แถว ๆ นั้น ที่ Tesla เข้าไปทำตลาดต่าง ๆ ก็อาจจะเห็นว่าเขามีการติดตั้งพวก Powerwall ที่เป็น Battery เข้าไปด้วยแบบเยอะมาก แต่พอเรามาดูในไทยเรา ทำไมในไทย ไม่ค่อยมีคนขาย Battery สำหรับ Solar Cell ที่เป็น Proper Solution เช่น LG Chem เยอะมากเท่าไหร่เลย

สาเหตุจริง ๆ เรามองว่า มันคือเรื่องของ ราคา และ อายุการใช้งานที่ มันทำให้ถึงจุดคุ้มทุนช้า หรือ อาจจะไม่ถึงจุดคุ้มทุนในระยะเวลาการใช้งานเลยก็ได้ในบางบ้าน ทำให้หลาย ๆ บ้านเลือกที่จะไม่ติด Battery และอยู่บนระบบ On-Grid ต่อไป

จุดที่เรามองว่า Battery ตอบโจทย์บ้านในประเทศไทยสุดคือ การสำรองไฟเมื่อไฟดับ เราเองอยู่บ้านตามหมู่บ้าน เรื่องของไฟดับไม่ค่อยเป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่บ้านที่อยู่ตามต่างจังหวัด ต้องเข้าใจว่า สายส่งมันยาว โอกาสที่จะเจอปัญหามันเยอะ มีเพื่อนที่บ้านอยู่ต่างจังหวัดหน่อยเล่าว่า บางทีไฟดับไปหลายชั่วโมงจนถึงวันเลยก็เจอมาแล้ว บ้านที่เจอปัญหาเหล่านี้แหละ ที่เหมาะกับการติด Battery เพิ่มมาก ส่วนบ้านตามหมู่บ้านทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องติดก็ได้ แต่ถ้าอนาคต เทคโนโลยีของ Battery ดีกว่านี้ และ ราคาถูกกว่านี้ค่อยมาพิจารณาทีหลังก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

การบำรุงรักษาละ แพงมั้ย ?

หลังจากการติดตั้ง และใช้งาน มันก็ต้องมีการบำรุงรักษา ? โดยทั่วไป เราควรที่จะล้างแผงสักปีละ 1-2 ครั้ง เราอาจจะเรียกบริษัทที่ติดให้เรานี่แหละมาช่วยล้างให้ เพราะบางที อาจจะมีฝุ่น หรือ อึนก มาเกาะ ทำให้ประสิทธิภาพของแผงในการผลิตไฟน้อยลง

สำหรับเรามองว่าในไทยเราเอง ปีละครั้งไม่น่ามีปัญหาเลย เพราะพอฝนตก จริง ๆ แล้วแผงมันก็ถูกล้างไปเยอะแล้ว ทำให้แผงในไทยเราค่อนข้างสะอาดแทบจะตลอดทั้งปีเลย ดังนั้นเรื่องของการบำรุงรักษาต่อปี ก็มีแค่ค่าล้างแผงที่ขึ้นกับแต่ละเจ้าว่าจะคิดเท่าไหร่

ถ้าผลิตได้เกิน เราควรขายไฟมั้ย ?

การไฟฟ้า สามารถให้เราไปขออนุญาติสำหรับการขายไฟคืนกลับให้การไฟฟ้าอยู่ ที่หน่วยละประมาณ 1.68 บาทมั่งนะ (ลองไปเช็คกับการไฟฟ้าอีกที) แต่เราจ่ายเพื่อซื้ออยู่ที่ 4 บาทนิด ๆ ทำให้ถ้าใครที่คิดว่าไม่อยู่บ้านแล้วจะติด Solar Cell เพื่อขายไฟ เราบอกเลยว่า ไม่คุ้ม

จริง ๆ เราว่า การขายไฟในประเทศเราด้วยเรทราคาเท่านี้ เรามองว่ายังไม่คุ้มซะทีเดียว มันไม่สามารถเอามาเป็นเหตุผลหลักในการติดได้ แต่ถ้าเราบอกว่า เราอาจจะใช้ไม่หมด เหลือนิด ๆ หน่อย ๆ เราก็เอาตรงนั้นขายไปเพื่อลดค่าไปกรุบกริบ เราว่าอันนั้นไม่น่ามีปัญหาอะไร

ในขั้นตอนของการขอขายไฟ ถ้าเราติดตั้งกับบริษัท เราสามารถบอกได้เลยว่า เราต้องการขายไฟ แล้วเขาจะไปติดต่อกับการไฟฟ้าให้มาทำการติดตั้งมิเตอร์สำหรับการขายไฟให้บ้านเรา หน้าที่ของเราก็คือ จ่ายเงิน อย่างเดียว แต่ถ้าเราทำเอง เราก็ต้องไปติดต่อกับการไฟฟ้าเอง ในการเดินเรื่องนี่แหละ เสียเวลามาก ๆ

Solar Cell ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ตอนนี้ !

คำถามสุดท้ายคือ มันเหมาะกับใครกันละ เราต้องบอกก่อนเลยว่า การติดตั้ง Solar Cell ใน ณ เวลาที่เราเขียน ไม่ได้เหมาะกับทุกบ้าน ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง และ ยังเป็นการลงทุนในระยะยาวมาก ๆ (เกือบ 10 ปี หรือมากกว่านั้น)

ทำให้เรามองว่า ณ วันนี้มันจะเหมาะกับบ้านที่มีการใช้ไฟเยอะ ๆ หลัก 3 พันหรือมากกว่านั้น ในช่วงเวลากลางวันมาก ๆ หรือไม่ก็เป็น Home Office ที่เราต้องนั่งทำงานอยู่ในบ้านทั้งวัน จะเป็นอะไรที่ทำให้คุ้มมาก ๆ

ส่วนถ้าเราใช้ไฟในช่วงกลางคืนเยอะกว่า พวกนี้เราบอกเลยว่าติดมาแล้วมันก็ไม่ค่อยลดค่าไฟเราเท่าไหร่ ยกเว้นแต่เราติด Battery เข้าไปด้วย นั่นก็ทำให้ราคาของระบบจะแพงขึ้นเข้าไปอีก ส่งผลให้ระยะการคืนทุนสูงไปอีก ทำให้เราไม่แนะนำมาก ๆ สำหรับคนที่ใช้ไฟเยอะในเวลากลางคืน

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนถามเรามาเกี่ยวกับการติดตั้ง Solar Cell วันนี้เราก็มาตอบไว้หมดแล้ว ส่วนความคุ้มค่า และ มันลดค่าไฟในบ้านเราไปมากแค่ไหน เราจะมารีวิวในช่วงเดือนสิงหาคม 2021 เมื่อเราใช้ครบ 1 ปีพอดี จะได้มีข้อมูลมากพอที่จะ Analyse ให้ดูจริง ๆ จัง ๆ ได้ ถ้าใครมีคำถามเพิ่ม Comment มาในเพจได้เลยนะ