อุปกรณ์ Smart Home เพื่อชีวิตที่ ง่าย และ ปลอดภัยขึ้น

Smart Home กลายเป็นของที่ถูกเปลี่ยนจาก Conceptual ออกมาสู่ความเป็นจริง จนมันก้าวออกมาสู่ Commerical Product ที่ตอนแรกต้องยอมรับเลยว่า มีไม่เยอะ และ ราคาสูงจนไม่กล้าซื้อเลย ตัดภาพมาที่ตอนนี้คือ ต้องบอกเลยว่า มันราคาถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเราเข้าไปดูในตลาดของจีน จะตกใจกับราคาของอุปกรณ์ Smart Home เลยละ ชิ้นนึง หลักร้อยเท่านั้น ในหัวเราตอนที่เห็นครั้งแรกคือ ยังคิดว่าชิ้นละเป็นพันอยู่เลย นี่หลักร้อย กดสิครับรออะไร วันนี้เราจะมาแนะนำอุปกรณ์ Smart Home ที่เรามักจะเล่นกัน และ ถ้าเราจะซื้อ เราจะหาซื้ออะไร และ แบบไหนได้บ้าง

อุปกรณ์ที่มีขาย มีอะไรบ้าง ?

หลัก ๆ อุปกรณ์ที่มีขาย มันจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคืออุปกรณ์ Sensing หรือก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้รับข้อมูลเข้า เหมือนกับ ตา และ หู ของเรานั่นเอง และ อีกแบบคือ Motor ก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้ทำงานบางอย่าง เหมือนกับ มือ เท้า ของเรา เช่นพวก Switch ไฟ หรือ อุปกรณ์เปิดม่าน

ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความสนุกของอุปกรณ์แบบนี้ในปัจจุบันคือ การรวมหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เช่นบอกว่า เอา Sensor ประตู หน้าต่าง มารวมกับ Siren เพื่อให้มันเป็นสัญญาณกันขโมย

หรือจะเอาให้ดีเข้าไปหน่อยก็อาจจะเอา PIR Sensor มาเพิ่มสำหรับการตรวจว่ามีคนเดินผ่านมามั้ยอะไรแบบนั้น ก็ถือว่าสนุกขึ้นไปอีก

ไปต่อ เอาให้พีคเข้าไปอี๊ก ด้วยการติดกล้อง ซึ่งบอกเลยว่า มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ ที่บังคับว่าเราต้องวางกล่องโน่นนี่นั่นเยอะแยะมากมาย เดี๋ยวนี้มันมี IP Camera ที่แค่ต่อ WiFi ทิ้งไว้ แล้วเราก็เข้าถึงกล้องได้เลยจากใน App จากที่ไหนก็ได้ที่มี Internet พร้อมกับบันทึกภาพทั้งหมดลง SD Card ซึ่งราคาไม่แพงเลยหรือเผลอ ๆ ที่เราซื้อมา มันก็แถม SD Card มาให้เลย หรือ ถ้าคิดว่ากล้องเยอะมาก ๆ ก็อาจจะซื้อกล่อง DVR ก็ได้ ตอนนี้คือมันมีกล่อง DVR ที่ต่อ Internet ได้ด้วย ทำให้เราดูจาก App ได้ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างของ Sensor ง่าย ๆ ที่เราสามารถเอามารวมกันได้

หรือจะเอาเป็นพวก Motor Device ถ้า Basic สุด ก็น่าจะเป็น IR Remote ที่ทำหน้าที่เหมือน Remote อะไรก็ได้เลย แค่เราบันทึก Remote ลงไป แล้วเราก็สามารถกดผ่าน App ได้เลย

เอาให้สนุกเข้าไปอีก มันก็จะมีพวก Relay และ Switch สำหรับการเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า อันนี้แหละ เราว่าสนุกมาก ๆ ที่น่าจะซื้อง่ายที่สุดคือ Switch ไฟบ้านเลย ณ วันที่เขียน เราก็กำลังทำอยู่เลย เดี๋ยวนี้ราคามันถูกมาก ๆ ถ้าไปให้สุด ก็จะเป็นพวก Action ต่าง ๆ อย่างพวก ตัวเปิดปิดม่านอะไรแบบนั้น

เอาเป็นว่า เรานึกอะไรได้ เดี๋ยวนี้มันมีอุปกรณ์ให้เราเล่นเต็มไปหมด แล้วมันจะมีพวกอุปกรณ์ทดแทนด้วยนะ เช่นเราบอกว่า ถ้าเราติด Switch ไฟบ้านไม่ได้ แล้วเราอยากจะควบคุมผ่าน App เราสามารถซื้อ Relay มาติดได้ มันจะเพิ่มความสนุกในการเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ

WiFi กับ Zigbee

ถ้าเราไปหาซื้ออุปกรณ์ หลัก ๆ มันจะมีการส่งสัญญาณอยู่ 2 แบบด้วยกัน อย่างแรกจะเป็นอะไรที่ง่ายมาก ๆ นั่นคือ เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน ​WiFi อันนี้ถือว่าเป็นอันที่มาตรฐานและติดตั้งได้ง่ายที่สุด เราว่า บ้านไหนที่อยากเล่น IoT ก็ต้องมี Internet และมี Access Point สำหรับกระจาย WiFi อยู่ในบ้านแล้วละ

อุปกรณ์ที่ต่อ WiFi ข้อดีคือง่าย เพราะมันสามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นเพิ่มเติมในการทำงาน มักจะเจอในอุปกรณ์ที่ต้องส่งข้อมูลเยอะ ๆ อย่างกล้อง ทำให้ข้อเสียของอุปกรณ์แบบ WiFi คือ มันกินพลังงานเยอะ ทำให้ส่วนใหญ่เราจะเจอแบบที่เราต้องเสียบปลั๊กไฟไว้ตลอด ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับบางจุด ที่อาจจะไม่มีสายไฟให้เชื่อม บางที อาจจะต้องเดินสายไฟอีก ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก

ทำให้มีอุปกรณ์อีกประเภทนึงขึ้นมาคือ เป็น Zigbee ซึ่งมันเป็นการเชื่อมต่อแบบนึงที่ใช้พลังงานน้อยกว่า ทำให้อุปกรณ์พวกนี้ส่วนใหญ่สามารถทำออกมาให้มีขนาดเล็ก และ กินไฟต่ำ พอมันกินไฟต่ำทำให้เราไม่จำเป็นที่จะต้องเสียบปลั๊กไปไว้ตลอดเวลา อาจจะเป็นการใส่ถ่าน ก็จะทำให้ที่ ๆ จะติดเจ้าอุปกรณ์เหล่านี้ทำได้ยืดหยุ่นขึ้นนั่นเอง แทนที่จะต้องมานั่งหาปลั๊กไปแล้วติด อันนี้เราก็เลือกที่ติดไปเลยไม่ต้องคิดเยอะมาก

แต่ข้อเสียของอุปกรณ์ประเภทนี้คือ มันไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง มันต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่า Bridge เป็นเหมือนจุดศูนย์กลางที่อุปกรณ์แบบ Zigbee จะส่งข้อมูลมา และเจ้ากล่องนี่จะแปลง และ ส่งออกไปที่ Internet อีกที่ ซึ่งกล่องนี่ก็มีหลายแบบอีกเหมือนกันว่า มันจะให้เราเชื่อมต่อ Internet ทางไหน อาจจะเป็นผ่านสาย ที่เราอาจจะต้องไปตั้งตรงที่มีช่องเสียบสาย หรือ ต่อผ่าน WiFi ก็มีเหมือนกัน

ข้อเสียของการใช้แบบ WiFi คือ ความ Delay ทั้งนี้ ขึ้นกับคุณภาพของสัญญาณตรงที่เราวางกล่องด้วย ถ้าเราเอาไปวางไกลจากตัวกระจายสัญญาณ มันก็จะ Delay มาก หรือ กดไม่ติดเลย กลับกัน ถ้าเราเอาไปวางใกล้ ๆ ตัวกระจายสัญญาณ มันก็จะทำงานได้รวดเร็วขึ้น ก็ต้องมีเรื่องของตำแหน่งในการวางเข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้อยากรู้ก็ต้องลองเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ หรือ บางที เราอาจจะต้องใช้ Bridge มากกว่า 1 ตัวในบ้านก็ได้เหมือนกัน ถ้าตัวเดียวมันเอาไม่อยู่นะ

ความสนุกมันอยู่ที่การ Mix & Match

พออุปกรณ์มาอยู่รวมกัน ความสนุกมันอยู่ที่การสร้าง ​Scene ต่าง ๆ เพื่อให้เราใช้งานได้ง่ายขึ้น เอาง่ายที่สุด ก็จะเป็น Scene ที่เรากดเพื่อให้มันทำงานอย่างการเปิดไฟหลังบ้าน หรือ การเปิดไฟห้องนั่งเล่น

Scene สามารถทำได้ซับซ้อนกว่านั้นอีก ด้วยการสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ถ้า Sensor PIR เจอว่าเราเดินผ่าน ก็อาจจะเปิดไฟ และ เปิดทีวี ให้เราเลย ที่เราชอบที่สุด น่าจะเป็น ไฟห้องน้ำนี่แหละ เข้าก็เปิดไฟเอง ออกมามันก็ปิดไฟเอง รวม ๆ เราว่ามันทำให้เราประหยัดไฟมาก ๆ

หรือที่เราชอบที่สุด ก็คือ การสร้าง Scene สำหรับนอน ก็คือ เราจะให้มันปิดไฟทั้งบ้าน เผื่อบางที เราอาจจะลืมปิดไฟบางจุดของบ้าน และ เปิดให้มีการ Capture ภาพจาากกล้อง เมื่อมีคนเดินผ่าน ซึ่งแน่นอนว่า ตอนกลางคืน มันไม่มีคนจะเดินผ่านแน่ ๆ ไง ถ้ามีก็ไม่ใช่คนที่เราต้องการแล้วละ

จุดนี้ เราว่ามันอยู่ที่ความต้องการ และ ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นกับมันแล้วละ หรือ มันมีให้ Advance เข้าไปอีก IoT ของบางที่ เราสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ผ่าน API ได้ด้วย อาจจะทำเป็นหน้าเว็บ เพื่อการควบคุม หรือทำงานได้ Custom มากขึ้นเข้าไปอีก มันก็เพิ่มความสนุกมาก ๆ

ปัญหาในการเชื่อมต่อ WiFi

การที่เราจะใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อ Internet นอกจากอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับ Internet ในบ้าน ก็มีความสำคัญขึ้นมาทันที ถ้าในบ้านเรามี IoT ที่ต่อ WiFi เยอะ ๆ เข้า อุปกรณ์ที่ ISP ให้มา อาจจะไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่เท่าไหร่ อาจจะต่อไม่ติด หรืออาจจะหลุดกลางคัน

สาเหตุหลัก ๆ ก็จะเกิดจาก อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุม Traffic ของ Internet ในบ้าน อย่าง Router มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ อย่าง Router ที่ใช้งานตามบ้านทั่ว ๆ ไป มันอาจจะรองรับสัก 10 อุปกรณ์พร้อม ๆ กันก็ถือว่า เยอะมากพอแล้ว แต่ถ้าเรามีอุปกรณ์ IoT เข้ามาในบ้านแล้ว อุปกรณ์ 10 ตัว อาจจะดูน้อยไปเลย

ตัวอย่างเช่นบ้านเรา เราอยู่คนเดียว อุปกรณ์ที่ติดตัว ก็มีอยู่แค่ 3-4 ชิ้นเท่านั้นเอง แต่พอ เราไปเปิดดู List ของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ใน Network ของเรามีตั้ง 25 ชิ้นเลยนะ ทำให้พวก IoT ในบ้านเรามีอยู่ตั้ง 21 ชิ้น นี่ยังติดไม่ครบเลยนะ ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet ในบ้านอย่าง Router อาจจะมีพลังไม่พอในการจัดการ Traffic ของอุปกรณ์ที่เยอะระดับนี้ นี่ยังไม่นับว่า ถ้าบ้านใหญ่กว่านี้ แล้วเราติดเยอะกว่านี้ อุปกรณ์นี่คือบอกเลยว่า ท่วมท่น เต็มไปหมดเลยละ

พอเราใช้อุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อได้ไม่เยอะพร้อม ๆ กัน ก็อาจจะทำให้เจอปัญหาการเชื่อมต่อบางอย่างเช่น เชื่อมต่อไม่ติดบ้าง ต่อได้แล้วหลุดเป็นระยะ ๆ บ้างก็มีเหมือนกัน

วืธีการแก้ปัญหาคือ อาจจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ให้สามารถรองรับอุปกรณ์ได้เยอะขึ้น อาจจะต้องไปใช้อุปกรณ์ที่เป็น Small Business Grade เลยก็ได้เหมือนกัน สำหรับเรา ๆ ใช้ Mikrotik ที่เป็นรุ่นของ SOHO เลย ก็จะรองรับอุปกรณ์ได้เป็นร้อย ๆ ทำให้เราเพิ่มอุปกรณ์ได้เรื่อย ๆ

ความปลอดภัย และ ความเป็นส่วนตัว


อันนี้อยู่ใน Raddit ที่เป็นข่าวเรื่องเปิดกล้องจากเครื่องตัวเอง ดันได้ภาพจากที่อื่น

เมื่อเรามีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Internet เรื่องของความปลอดภัย มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เป็น Sensor ต่าง ๆ

ถ้าล่าสุดที่น่ากลัวมาก ๆ ก็น่าจะเป็นเคสของ Xiaomi ที่เปิด App มาแล้ว มันโชว์กล้องของคนอื่น นี่อ่านข่าวก็เอ๊ะป่ะ แบบ น่ากลัวอยู่นะ ว่ากล้องที่จับภาพในบ้านเราไปโผล่ใน Account ของคนอื่น มันกลายเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว

นึกสภาพนะ ในบ้านเรามีกล้องอยู่ตัวนึงเชื่อมต่อกับ Account ของเรา แล้วเรานอนตีพุง แก้ผ้า ดูทีวีอยู่ในบ้าน แล้วภาพตรงนั้นมันไปอยู่ที่ใครก็ไม่รู้ แล้วเราจะคิดยังไงละ เอาจริง ๆ เราว่ามันไม่ตลกเลยนะ ยังไม่นับว่า โดนแคปไป หรือ โดนอัดวีดีโอไป ก็ถือว่าน่ากลัวมาก ๆ

อุปกรณ์หลาย ๆ ตัว มักจะมากับ Platform ที่ Server ปลายทาง ในการเก็บข้อมูลอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ทำให้ เราควรเลือกอุปกรณ์ที่อยู่ใน Platform ที่เชื่อถือได้ อย่าไปซื้อตัวที่มันน่ากลัว ๆ เพราะพวกนี้ โอกาสที่ข้อมูลจะหลุดออกไปก็ง่ายขึ้น ยังไม่นับว่าโดนเจาะอะไรอีกนะ น่ากลัวอยู่

เคสจำลองที่น่าสนใจ มาจาก Series เรื่อง Mr.Robot ตอนนึงที่ Hacker เจาะเข้าไปในอุปกรณ์ IoT ในบ้านทั้งหมด ปิดเปิดไฟ เปิดเพลง ทำให้ทั้งบ้านป่วนไปหมด จนเจ้าของบ้านอยู่ไม่ได้แล้วต้องออกจากบ้านไปชั่วคราว แล้ว Hacker ก็จะเข้ามาอยู่เพื่อตั้งเป็นฐาน

อันนี้เป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นใน Series เท่านั้น แต่ความเป็นไปได้ที่จะเป็นเรื่องจริงมันก็เยอะเหมือนกัน หรือถ้าเราคิดง่าย ๆ ถ้าโจรเจาะเข้ามาในบ้านของเรา อยากรู้ว่าเราอยู่บ้านมั้ย ก็อาจจะดูจาก Sensor หรือกล้องในบ้านก็ยังได้เลย ตอนที่เราไม่อยู่ก็เจาะเข้ามาลบภาพ แล้วก็เข้ามาขโมยของ มันก็เป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้แหละ

ซึ่งแน่นอนว่า เราก็สามารถลดความเสี่ยงพวกนี้ได้ด้วย การป้องกัน Account ของเราให้ดี ตั้งรหัสผ่านให้มีความยากขึ้น (เช่น อาจจะมี ตัวเล็ก ตัวใหญ่ ตัวเลข และอักขระพิเศษต่าง ๆ) และ ไม่ให้ใครที่ไม่ใช่บ้านเรา เข้ามาใน Network ของเรา เช่น การแบ่ง WiFi ให้ข้างบ้านใช้ ก็ทำให้เป็นความเสี่ยงที่ทำให้ Network ของเรามีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีมากขึ้น

อันนี้นอกเรื่องนิดนึงคือ เราสามารถแยก Network ของเรา และ ของแขกที่มาบ้าน ได้ง่ายมาก ๆ ใน Router ตัวแพง ๆ หน่อย มันจะมี Guest WiFi ให้ด้วย คือ มันจะปล่อย WiFi ที่เป็นของเราเอง และ ของแขกที่มาบ้าน พอเวลาใครมาบ้าน เราก็ให้เขาเชื่อมต่อกับอันที่เป็นของแขก Network ของ 2 ฝั่ง เราและแขก จะถูกแยกกัน ทำให้ลดความเสี่ยงในการถูกเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านจากคนอื่นได้ดีเลย บางคนอาจจะมี NAS อยู่ในบ้าน ให้แขกเข้ามาบ้าน แล้วต่อเข้ามาก็เจอ NAS ของเราแน่นอน การแยก ก็จะดีมาก ๆ

สรุป

อุปกรณ์ IoT อย่าง Smart Home ก็ทำให้ การใช้ชีวิตในบ้านทำได้สะดวก และ สนุกขึ้น ด้วยการ Mix & Match อุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และในปัจจุบันราคาของอุปกรณ์เหล่านี้ถือว่าถูกลงเยอะมาก จากหลายพัน ตอนนี้ชิ้นนึงก็ราว ๆ หลักร้อยเท่านั้น ถือว่าถูกมาก ๆ เผลอ ๆ บ้าน 2 ชั้น 1 หลัง น่าจะลงทุนไม่เกิน 5000 บาท สำหรับติดทั้งบ้านเลย หรือมากกว่านั้น ถ้าเราอยากได้ Option มากขึ้นอีก อันนี้อยู่ที่เราจะเลือกได้หมดตามที่ต้องการ แต่แน่นอนว่า การจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เรายังต้องมีอุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet ที่รองรับการใช้งานพร้อม ๆ กันหลายอุปกรณ์เยอะ ๆ หน่อย อาจจะ 15-20 อุปกรณ์พร้อม ๆ กัน ไม่งั้น เราอาจจะประสบปัญหา ต่อ ๆ ไปแล้วหลุด หรือต่อไม่ติดเลยก็มี นอกจากนั้น อุปกรณ์พวกนี้ก็ยังมาพร้อมกับข้อกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัว และ ความปลอดภัยอีก เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราอีกเหมือนกัน ที่เราจะต้องป้องกันตัวเองให้ได้มากที่สุด อย่างการไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาใน Network ของเรา หรือ อาจจะแยก Network แบบ Guest Mode ก็ได้ และ การตั้งรหัสผ่านของ Account ที่เราใช้สั่งงาน IoT ให้ปลอดภัย แต่เราบอกเลยว่า ลองติดสักตัว มันจะมีตัวที่ 10 ตามมาแน่นอน ขอให้สนุกกับการเปลี่ยนบ้านให้เป็น Smart Home ฮ่า ๆ