รีวิว Leica Q3 กล้อง Compact ที่หลงรัก (ประสบการณ์การใช้งาน)
หลังจากเราเล่าหลาย ๆ ส่วนของกล้อง Leica Q3 ไปแล้ว ในตอนนี้เราจะมาถึงประเด็นสำคัญของกล้องกันบ้างดีกว่าคือ คุณภาพของภาพ และประสบการณ์ใช้งานที่เราได้กล้องตัวนี้มาวันนึงแล้ววันต่อไปต้องไปญี่ปุ่นเลย เราได้เอาเป็นกล้องตัวเดียวไปถ่ายเลย วันนี้เราจะมาเล่าให้อ่านกันว่า เราประทับใจหรือมีข้อสังเกตตรงไหนจาก Q3 บ้าง
Image Quality
หลังจากเราได้เอา Leica Q3 ไปเป็นกล้องตัวเดียวเที่ยวญี่ปุ่นมารอบนึง เรารู้สึกมั่นใจในประสิทธิภาพของเจ้า Q3 นี้มากกว่าเดิมเยอะ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ เรายังมีข้อกังขากับมันอยู่
ประเด็นแรก คือ พลังในการขุด โดยเฉพาะเมื่อเราถ่ายมา Under หรือ Over มาก ๆ เรามีไฟล์ภาพที่กดมาแบบเร็ว ๆ วัดแสงผิด จนทำให้ส่วนตัวแบบมันมืดไปเลย แต่มันน่าเหลือเชื่อมากว่า เราสามารถดัน Shadow และ Exposure ขึ้นมา แล้วกด Highlight ลง ภาพที่ได้ออกมา มันไม่ได้แย่มากเท่าไหร่เลย จากตัวอย่างภาพด้านบนเป็นภาพที่เราถ่ายจากระเบียงโรงแรม ที่ด้านล่างเป็นส่วนสาธารณะช่วงเช้า เราจะเห็นได้จากภาพต้นฉบับทางซ้ายว่า ส่วนของสวนที่อยู่ด้านล่างภาพนั้นมืดแทบจะสนิทเลย แต่เราสามารถดันช่วงมืด ทั้ง Black และ Shadow ขึ้นมา ได้เยอะมาก ๆ กับลด Highlight เพื่อเก็บช่วงสว่าง ภาพที่ได้มันถือว่าดีมาก ๆ เลยนะ เปลี่ยน Mood & Tone ของภาพไปไกลมาก ๆ
เรื่องที่สองคือ ความคม เลนส์ Summilux 28 f/1.7 ASPH ที่ใส่มางาน Optical Performance ของ Leica ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย มันคือ Leica Lens อย่างแน่นอน เริ่มจากเอามาถ่าย Landscape ที่เป็นช่วงระยะนี้เก่งมาก ๆ กดที่ f/6.3 ก็คือ คม ทั้ง ภาพ ไม่เกินจริง ทำออกมาได้ดีมาก ๆ เก็บส่วนมืด และสว่างได้โหดมาก ๆ เราว่า แค่ f/6 ก็รู้เรื่องแล้วว่า คมแบบ คมทั้งภาพแบบไม่เกินจริง ของแทร่ ! ยิ่งภาพด้านบน ก็คือลองของด้วยการกด f/16 มาเป็นเครื่องบินเลยทีเดียว
หรือกระทั่ง f/1.7 กว้างสุด ที่มันสามารถแยก Subject ออกจาก Background ได้ดีมากพอสมควร แต่ถามว่าดีพอ ๆ กับตระกูล 1.4 GM ที่เราใช้งานมั้ย ก็ไม่ขนาดนั้น ประเด็นที่ทำให้เราอึ้งมาก ๆ คือ ความคม ของ Subject ที่ได้มันดีมากจริง ๆ มันไม่ได้คมทะลุจนเห็นวิญญาณแบบ Sigma แต่มันก็ไม่ได้เบลอ แต่มันนุ่มนวลกลมกล่อมมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ กับเราไม่แน่ใจว่า Leica เขามีทริกอะไรในการสร้างภาพที่มีลักษณะเหมือน Micro-Contrast บางอย่างทำให้ภาพดูมีมิติ แต่ก็ไม่แข็งจนเกินไป เอามาถ่าย Portrait แล้วคือเริ่ดมาก ยิ่งถ้าเจอแสงดี ๆ หน่อยนะ จบหลังกล้องได้สบาย ๆ
แต่เรื่องที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะสนุกขนาดนี้คือ พอมันใช้ Sensor ความละเอียดสูง ทำให้เราสามารถที่จะ Crop มันออกได้เยอะมาก เยอะจน เราสามารถจัด Composition ใหม่ ๆ ได้เยอะมาก ๆ ตั้งแต่การ Crop บางอย่างออกง่าย ๆ หรือกระทั่งการ Crop เพื่อเปลี่ยนจากแนวตั้งเป็นแนวนอน หรือกลับกันได้เลย
จากภาพด้านบน ก็จะกลายเป็นแบบนี้เลย เสมือนว่า เรามีเลนส์ซูมติดมาด้วย ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นแค่เลนส์ฟิคเท่านั้น แต่เราต้องบอกก่อนนะว่า มุมมองของการ Crop มันไม่เหมือนกับเราใช้เลนส์ระยะที่แคบกว่าหรอกนะ เพราะมันมีเรื่องของ DoF และการดึงระยะที่แตกต่างกันมาก ๆ แต่มันก็ทำให้คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้สนใจอะไรสะดวกในการใช้งานมาก ๆ เพราะอย่าลืมนะว่า นี่คือกล้อง Compact ที่ Point & Shoot ได้ง่าย ๆ
แต่ปัญหาของพวก Sensor ความละเอียดสูงคือ การจัดการกับ Noise โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่แสงน้อยทั้งหลาย จากตอน A7IV เรากด ISO1000 ก็สุด ๆ สำหรับเราแล้ว (เราติดภาพ Clean แบบมาก ๆ เลยไม่กดหนักกว่านี้) แต่บังเอิญว่า เราไป Aquarium แล้วลืมตั้ง Limit Max ISO ทำให้ภาพด้านบนนี้กดมาด้วย ISO 3,200 เป็นจุดที่ปกติเราไม่กล้ากดถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ กลายเป็นว่าภาพที่ได้ มันใช้ได้เฉยเลย
เราเอาเข้ามาทำต่อใน Lr แก้นิดหน่อย ส่วน Noise เราใส่ Luminance นิดหน่อย ก็ใช้งานได้เลย อาจจะเพราะความละเอียดนี่แหละ พอมันโดน Blend ไป ความละเอียดที่มีเยอะมันโดนทอนหายไป แต่มันก็ยังเหลือเยอะพอที่จะทำให้ภาพดูคมได้อยู่ อาจจะไม่เท่ากับต้นฉบับ แต่ยังใช้งานได้สบาย ๆ
สำหรับคนที่กังวลเรื่องขนาดไฟล์ เรากด DNG RAW เราได้ขนาดไฟล์อยู่ที่ประมาณ 69-94 MB โดยเราสังเกตได้ว่า ภาพที่มีขนาดเกินค่าเฉลี่ยมักจะเป็นภาพที่เราถ่าย Under หรือ Over ไป เลยคิดว่า มันน่าจะเกี่ยวกับวิธีการบีบอัดของ DNG แต่ ๆๆๆ นั่นทำให้ ถ้าเรากด RAW ล้วน ๆ เลย เราไปเที่ยวมา ใส่การ์ด 128 GB เลือกถ่าย L-DNG + M-JPG กล้องบอกว่า เราน่าจะได้ราว ๆ 700 กว่าภาพ เราคิดว่า ถ้าเราเน้นยิงรัวบ่อย ๆ เราแนะนำการ์ดที่ความจุสัก 128 GB หรือสูงกว่าเลย แต่ถามว่า ต้องใช้การ์ดที่เร็วมากมั้ย เอาแค่ว่า มันเป็น UHS-II พอแล้วละ เพราะกล้องตัวนี้ไม่สามารถ Burst ได้เร็วเท่าไหร่ อย่างมากที่ใช้กันก็น่าจะไม่เกิน 4 FPS ที่ Buffer ขนาด 8 GB เอาอยู่ได้สบาย ๆ
โดยรวม เราคิดว่าภาพที่ได้ คุณภาพสูงมาก ๆ เราไม่อยากเรียกว่ากล้อง Compact เท่าไหร่ คุณภาพมันเลยไปมากกว่าที่เราคิดมาก ๆ มันสามารถเอามาใช้ทำงานย่อม ๆ หรือกระทั่งเราเห็นบางคนเอาไปรับงานได้เลย ยิ่งใช้เป็นกล้องรองร่วมกับ Sony เราว่าน่าจะสนุกมาก ๆ เอา A7IV ใส่ 50 1.4 GM คู่กับ Q3 สบายเลยนะไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ แล้วได้มุมมองสนุก ๆ เยอะมากจริง ๆ
ระบบ Autofocus ที่ล้าหลัง แต่ก็พอใช้ได้
ถึงเราจะชมเรื่อง Optical Performance และภาพที่ได้ออกมาแล้ว แต่หนึ่งในจุดอ่อนที่สำคัญมาก ๆ สำหรับ Q3 คือ ระบบ Autofocus ทั้ง ช้า และ ใช้งานยากมาก ๆ
เราเล่าส่วนหนึ่งไปในตอนก่อนหน้าแล้วว่า แค่เรื่องการเลือกโหมด Eye-AF ยังโดนแยกออกมาแล้ว หากเราเลือกโหมด Eye-AF นี่นี้แหละ หายนะมาก ๆ กล้องมันพยายามจะตีกรอบ Object เต็มไปหมดจนไม่เห็นรูปแล้ว กรอบบังหมด แต่ถ้าเลือกเข้า มันก็เข้าจริง ๆ คม ๆ เลยนะ
อีกปัญหาที่เราพบคือ ระบบ Autofocus ทำงานได้ช้ามาก ๆ เต่าเรียกพี่ได้เลย ส่วนนึงมันอาจจะเกิดจากการที่เราใช้ Sony มา ที่ระบบมันทำงานได้เร็วแบบปีศาจเป็นผู้นำในตลาดอยู่แล้ว พอมาใช้ Q3 อาจจะทำให้เราหงุดหงิดไปบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่า มันใช้งานไม่ได้นะ มันก็เรียกว่าใช้ได้ แต่แค่เราต้องปรับตัว Slow-mo ตัวเองนิดหน่อยเวลาใช้ อะพูดตรง ๆ ว่า มันยังดีกว่า Canon EOS R ที่เราใช้ที่ออฟฟิศ ล้านเปอร์เซ็นต์อันนั้นกล้องหรือเครื่องคิดเลขก็ไม่รู้ โฟกัสบอกเข้า เข้ากี่โมงก๊อนน แหม่ เบลอฉ่ำ งง มากจ๊าาาา
ดังนั้น เราคิดว่า มันเป็นระบบที่เชื่อถือได้ ถ้ามันขึ้นเขียว แปลว่ามันเข้าจริง ๆ เมื่อรวมกับ Optical Performance ของเลนส์เข้าไปอีก มันทำให้เข้าแบบคม คมยันโลกหน้า แน่น ๆ ไปเลย ปัญหาอย่างเดียวสำหรับเราที่ใช้กล้องที่ทำงานไวมาก่อนคือ มันช้ากว่าแค่นั้นแหละ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าช้าสุดในตลาดแน่ ๆ
สรุป : กล้องที่ทำให้เราช้าลง สนุกกับการถ่ายภาพอีกครั้ง
หลังจากเราเอา Leica Q3 มันทำให้เรารู้สึกสนุกกับการถ่ายภาพอีกครั้ง แตกต่างจากกล้อง Sony ที่เราใช้งานอยู่เป็นประจำ อันนั้นเรามองว่า มันเป็นกล้องที่เน้นไปหาผลลัพธ์ที่ได้ภาพคุณภาพสูงพร้อมเอาไปใช้งานต่อ ต้องใช้ความพยายามในการ Operate เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด แต่กลับกัน Leica Q3 มันคืออีกเรื่องเลย มันเป็นกล้องที่ทำให้เราสามารถดื่มด่ำประสบการณ์ เรื่องราวดี ๆ ณ ตอนที่ถ่าย ทำให้เราโฟกัสกับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าได้มากขึ้น ใช้ทั้งสิ่งที่เราเห็น และภาพเก็บความทรงจำดี ๆ ในช่วงเวลาสำคัญร่วมกัน ทำให้ภาพที่ออกมาแต่ละภาพ มันมีความหมาย มีเรื่องราว ที่ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ได้สวยมาก แต่ดูกี่ที เราก็ยังนึงถึงช่วงเวลานั้น ๆ เสมอ นี่แหละ เราว่ามันคือ Core หลักของการถ่ายภาพ ซึ่ง Leica Q3 สามารถนำเสนอเรื่องนี้ออกมาได้ดีมาก ๆ ผ่านการออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีความคงทนพร้อมเดินทางไปกับเราในทุก ๆ ที่ ในน้ำหนักที่เบา แต่คุณภาพก็ยังคงสูง ไว้ใจได้ เราบอกเลยว่า มันจะเป็นกล้องที่เราใช้ใน Daily Use ได้แบบ สนุกมาก ๆ
และเราจะบอกว่า ราคาค่าตัวน้องเขา 2 แสนกว่าบาท เรามองว่า หากใครที่ถ่ายรูปมาสักพักแล้วอยาก หยุดพักหายใจ มองสิ่งรอบ ๆ ตัวมากขึ้น Q3 น่าจะเป็นกล้องที่ทำให้เรารู้สึกดี และสนุกกับการถ่ายภาพได้อีกครั้งเลยแหละ แนะนำเลยจริง ๆ