รีวิว DJI Mic 2 ไมค์สำหรับ Content Creator ที่ดีที่สุดในตอนนี้

เสียง เป็นส่วนที่สำคัญของ Content เลยก็ว่าได้ มีคนเคยบอกเราว่า ภาพถ้าไม่เ_ยมากไม่เป็นไร แต่ถ้าเสียงฟังไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครดูนะเว้ย หลังจากนั้น เรามองหาระบบและวิธีการอัดเสียงให้ ง่าย คล่องตัว และให้คุณภาพเสียงดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องทำงานคนเดียว ลองมาหลายแบบมาก ๆ จนมาเจอ DJI Mic 2 ที่ต้องบอกเลยว่า เป็นระบบที่ทำให้การทำ Content ของเราง่ายกว่าเดิมมาก ๆ จะง่ายอย่างไร ไปอ่านได้ในรีวิวนี้เลย

แกะกล่อง

ตัวกล่องมาในสไตล์ DJI กล่องกระดาษ พื้นขาว มีรูปสินค้า และเขียนไว้ชัดเจนว่า DJI Mic 2 ด้านล่างยังเขียนไว้ด้วยว่า Wireless Microphone กับด้านบนขวามีสติ๊กเกอร์ของ Big Camera เพราะเราซื้อจากงาน Photo Fair ของเขา ได้มา 11,000 บาทนิด ๆ เราคิดว่า ถ้ารอพวกวันตรงเดือนที่ลดราคากันฉ่ำ ๆ คิดว่าได้ราคาดีกว่านี้เยอะ รอซื้อตอนนั้นดีกว่ามั้งนะ

ด้านข้างพิมพ์ Logo DJI สีดำเอาไว้ เหมือนกล่อง DJI Product อื่น ๆ

ด้านข้างอีกข้าง พิมพ์มาเป็นเว็บของ DJI อันนี้ไม่มีอะไร

มาที่ด้านหลังกันบ้าง มีการบ่งบอกสรรพคุณเอาไว้เสร็จ เช่น แบตเตอรี่ที่ใช้ได้ถึง 18 ชั่วโมง, ระบบการตัดเสียงรบกวน และ การอัดเสียง 32-bit Float จะเป็นยังไง เดี๋ยวเราเล่าต่อไป ด้านล่างลงมาจะเป็น อุปกรณ์ที่ใส่มาในกล่อง คนที่เคยซื้อ DJI Product มาก่อน จะรู้ว่า เขาชอบมาอุปกรณ์เสริมสิบล้านอย่างอยู่ในกล่อง ตัวนี้เราเลือกมาเป็นตัว 2 TX ทำให้มีไมค์มาให้ 2 ตัว ถ้าเราต้องการตัวส่ง และ รับอย่างละตัว เขาก็มีขายเป็นอีกชุด แต่อุปกรณ์จะไม่แน่นเท่านี้ หรือเราจะซื้อแค่ตัวไมค์อย่างเดียวก็ได้เช่นกัน

เปิดกล่องมา เราจะพบกับกระเป๋าสีดำ ดูเผิน ๆ ก็รู้แล้วว่า เป็นกระเป๋าที่น่าจะคุณภาพดีมากแน่ ๆ

ด้านข้าง มีการแกะซองไว้ เป็นพวกซอง Paperwork พวกคู่มือการใช้งาน และ สติ๊กเกอร์ DJI มาให้ อันนี้เราขอข้ามไปละกัน จริง ๆ ของในกล่องมีเท่านี้เลยจริง ๆ อุปกรณ์อื่น ๆ เขาใส่มาในกระเป๋าหมด

เอากระเป๋าออกมาจากกล่อง แค่มองก็รู้แล้วว่า มันน่าจะ Premium มาก ๆ รู้สึกว่า ยิ่ง DJI ออก Product ใหม่มาเรื่อย ๆ กระเป๋าใส่ของเขาเริ่มคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้มันเริ่มเข้าในระดับบริษัททำกระเป๋าแล้วนะ

รู้สึกดีจนสงสัยว่า กระเป๋ามันทำจากอะไร เขามีแปะมาด้วยลองอ่านดู อ่อ Polyester หรือใยสังเคราะห์ เราคิดว่ามันน่าจะทำให้กระเป๋ามันกันพวกระอองน้ำด้วยละมั้งนะ เหมาะสำหรับการพกพาเป็นอย่างยิ่ง

ปลายที่ดึงซิป เขาทำมาเป็นพลาสติกอย่างดี จับแล้วแน่นหนา รู้สึกถึงคุณภาพสุด ๆ พร้อมกด DJI Logo ลงไปด้วย

ปกติ ถ้าเราซื้อของแล้วได้กระเป๋ามา เราคงไม่ได้คาดหวังอะไรมากจากซิป ก็คงเป็นซิปโง่ ๆ ปกติ แต่สำหรับ DJi Mic 2 ไม่ใช่แบบนั้น เขามีการทำยางบาง ๆ มาซีลกันหยดน้ำ ละอองน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าด้วยนะ ทำให้เราสบายใจได้ในระดับนึงเวลาเราต้องฝ่าฝนเบา ๆ หรือโดนละอองน้ำว่า อย่างน้อยโอกาสที่น้ำจะเข้าก็ลดลงแหละ แต่เราไม่ได้บอกให้เอาไปโดนน้ำ สาดน้ำใส่นะ มันไม่ได้เก่งขนาดนั้น

เปิดกระเป๋ามา เราจะพบกับช่อง 2 ช่องใหญ่ ๆ สำหรับใส่ตัวกล่องไมค์ และ อุปกรณ์เสริม

อุปกรณ์เสริมตัวแรกคือสาย USB-C to USB-A สำหรับการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และชาร์จ อันนี้แอบไม่ชอบเท่าไหร่ที่เขาไม่ใช้ C-to-C มาเลย ทำไมต้องเอา A มาด้วย คอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้น่าจะต้องมี USB-C หมดแล้ว หรือไม่ก็แถมหัวแปลงมาด้วยจะดีมาก ๆ

และสายอีกเส้นที่มาในกระเป๋าคือสาย TRS หรือบ้าน ๆ เราชอบเรียกว่า Jack 3.5 สำหรับเสียบตัวรับเข้ากับกล้อง โดยเขาให้มาเป็นสายสั้น ๆ เดี๋ยวตอนพูดถึงการ Setup จะเข้าใจว่าทำไม แต่ประเด็นสำคัญ สายที่ให้มา บอกเลยว่า โคตรหนา โคตรแข็งแกร่ง ไม่ต้องจับ แค่มองก็รู้แล้วว่า แข็งแกร่งอย่างแน่นอน แต่ไม่มีขั้วสำหรับป้องกันเวลาสะบัดหลุดอะไรนะ แต่ส่วนตัวคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ เพราะสุดท้าย เราเสียบมันเข้ากับกล้อง ไม่น่าจะมีใครสะบัดให้หลุด

สุดท้ายคือ Deadcat หรือบ้าน ๆ เราเรียกว่า ที่กันลม ทำให้เสียงลม มันไม่เข้าไมค์เรา โดยตัวที่เราซื้อมีไมค์ 2 ตัว ทำให้มี Deadcat ในกระเป๋าทั้งหมด 2 อันด้วยกัน

เท่าที่ได้ลองจับ และใช้งาน รู้สึกเลยว่า Deadcat อันนี้ดีมาก ๆ มีความนุ่ม ไม่บาดผิวเวลาติดกับไมค์แล้วเหน็บกับตัว ทดลองใช้ข้าง ๆ พัดลม เรียกว่าสามารถป้องกันได้ประมาณนึงเลย

แต่เรื่องที่ประทับใจจากมันสุด ๆ คือ วิธีการติดเข้ากับไมค์ ตอนใช้ Wireless Mic ที่มากับ DJI Pocket 2 ให้มาเป็นขาล๊อคเล็ก ๆ 2 อัน สะกิดก็หลุดละ แต่ Deadcat อันนี้มีแง่งพลาสติกสีดำ ๆ เสียบเข้าไปในไมค์ได้เลย ทำให้มันหลุดได้ยากมาก ๆ สะบัด ๆ ยังไงก็ไม่หลุดแน่ ๆ

DJI Mic 2

มาที่พระเอกของเราดีกว่า สำหรับรุ่นที่มีไมค์ 2 ตัว จะมาพร้อมกับ Charging Case ด้วย ตัวเคสนี้จับครั้งแรกที่ร้านรู้สึกได้ทันทีถึงความ Solid ของมัน จับแล้วรู้สึกถึงความแข็งแรงของมัน แต่พอลองเคาะ ๆ ดู เราคิดว่ามันน่าจะทำจากพลาสติกที่ค่อนข้างหนา แต่เขาทำผิวทราย กับทำสีด้าน ๆ มา ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังจับเหล็กอยู่

และส่วนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ของรุ่นนี้คือ การที่มีปุ่มสำหรับกดเพื่อเปิดกล่องแล้ว จากรุ่นเดิมมีผู้ใช้จำนวนมากบ่นว่า บางครั้งเวลาเราคว่ำกล่อง ฝากล่องมันชอบเปิดเอง ทำให้มีโอกาสที่ไมค์ และ ตัวรับอาจจะหล่นหายได้ มารุ่นนี้ได้รับการปรับปรุงอย่างดี ต้องกดแล้วเปิดฝา แต่ยังคงแม่เหล็ก นอกจากจะต้องกด ต้องออกแรงดันเพื่อเปิดเล็กน้อย ให้ความรู้สึกแข็งแรงมาก ๆ

นอกจากตัวกล่องจะเป็นกล่องสำหรับเก็บอุปกรณ์แล้ว ภายในกล่องยังมีแบตเตอรรี่สำหรับชาร์จไฟให้กับตัวไมค์ และตัวรับด้วย เมื่อเราเปิดฝา ไฟแสดงสถานะแบตของเคสจะปรากฏขึ้น มีทั้งหมด 4 จุด หากไฟติด 4 จุดคือ แบตเต็ม และค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเราใช้งานไป

เมื่อเราเปิดกล่องออกมา เราจะพบกับ ตัวไมค์ และ ตัวรับ โดยที่ตัวรับจะแสดงปริมาณแบตของทั้งไมค์ และ ตัวรับเลย ชอบตรงที่บอกว่า มันบอกเวลาที่ใช้งานได้ เช่นในหน้าจอที่เห็นในภาพด้านบน คือ หากเราเอาออกมาตอนนี้เราจะสามารถใช้ได้ต่อเนื่องสูงสุด 15 ชั่วโมงนะ พอมั้ย ถ้าไม่พอก็ปล่อยกรูไป ให้กรูชาร์จต่อไปนะอะไรแบบนั้น ชอบจุดนี้จริง

เริ่มที่ไมค์กันก่อน ในชุดที่เราซื้อมา มีทั้งหมด 2 ตัว หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ ๆ เลยนะ ในรุ่นที่ 2 นี้ได้รับการปรับปรุง โดยไมค์สีดำ ด้านหน้าทำมาคล้าย ๆ เดิมคือมี DJI Logo แต่เปลี่ยนจากพลาสติกทึบ ๆ กลายเป็นโปร่งแสง เห็นพวกวงจรภายใน บอกเลยว่า สวยมาก ๆ น้ำหนักถือว่า มีพอสมควร แต่อยู่ในระดับที่จับแล้วรู้สึกถึงความแข็งแรงของมัน

ด้านข้างนึงของมัน ไล่จากขวาไปซ้าย ขวาสุด เป็นปุ่มสีแดง สำหรับการสั่งอัดหรือหยุดอัดเสียง ใช่แล้วฮะ ตัวมันสามารถอัดเสียง ทำ Internal Recording ใส่เข้าไปในตัวเองได้ด้วย ไม่ว่าจะเชื่อมต่อกับตัวรับหรือไม่ มันยังสามารถอัดเสียงเป็น Standalone เลยยังได้ เมื่อเราอัดเสร็จแล้ว เราสามารถเอาไฟล์เสียงออกมาได้จาก Port USB-C ข้าง ๆ ได้เลย เมื่อเราเสียบเข้าคอมพิวเตอร์ มันจะทำหน้าที่เหมือน Flash Drive ให้เราเอาไฟล์เสียงออกมาได้ โดยมันสามารถอัดได้สูงสุดที่ 32-Bit Floating Point ไปเลย ทำให้เรามั่นใจได้ว่า เสียงที่เราได้ หากมี Dynamic เยอะมาก ๆ เราสามารถมาแก้ไขได้ใน Post Production ได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว และสุดท้ายซ้ายสุดเป็นไฟแสดงสถานะการอัดเสียง หากมีการอัดลง Memory ของตัวไมค์ จะกระพริบไฟสีแดงนั่นเอง

ด้านข้างอีกข้าง เป็นส่วนสำหรับการเชื่อมต่อกันบ้าง ด้านบนสุดเป็นไฟแสดงสถานะการเชื่อมต่อ หากเป็นสีเขียวคือ กำลังเชื่อมต่อกับตัวรับ และ Feature เด็ดของเจ้านี่เลยคือ ตัวมันสามารถใช้งาน โดยไม่มีตัวรับ แต่เชื่อมต่อไปที่โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่รองรับ Bluetooth ได้ด้วย

โดยเราสามารถสลับระหว่างการเชื่อมต่อไปที่ตัวรับ และผ่าน Bluetooth ได้โดยการกดปุ่มบันทึกเสียงค้างไว้ 3 วินาที ไฟแสดงสถานะการเชื่อมต่อจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีฟ้า และเราสามารถเปิด Pairing Mode ได้โดยการกดปุ่มเชื่อมต่อปุ่มด้านบนสุดรูปโซ่ของรูปค้างเอาไว้ นั่นทำให้เราสามารถซื้อตัวไมค์อันนี้อันเดียว และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของเราก็ได้เช่นกัน หรือใครที่มี DJI Action 4 และ DJI Osmo Pocket 3 ก็สามารถเอาตัวรับนี้เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์เพื่อเป็นไมค์บันทึกเสียงได้เช่นกัน

อีก Feature สำคัญคือ เมื่อเรากดปุ่มเปิดทีนึง มันจะเป็นการเปิดปิด Noise Cancelling Mode โดยเมื่อเราเปิดไฟจะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลือง ๆ ส้ม ๆ แทน มันเหมาะกับเวลาเราไปอัดในที่ ๆ แออัดเสียงรบกวนเยอะ ๆ เช่นริมถนน หรือในงานแฟร์ทั้งหลาย นอกจากนั้น ส่วนตัวเราไม่ชอบเท่าไหร่ ถ้าอัดมาแล้วพัง ค่อยมาแก้ใน Post เอาละกัน

ข้างใต้ไมค์จะเห็นว่ามีขั้วทองแดง 4 Pin อยู่สำหรับการเชื่อมต่อกับเคส เพื่อการชาร์จ และยังเป็นแม่เหล็ก ทำให้เวลาเราใส่ลงไปในเคส เราไม่ต้องกลัวเลยว่า มันจะไม่เข้าล๊อค ไม่ชาร์จ อารมณ์มันคล้ายกับ Airpods ที่แค่หย่อนลงไปก็เรียบร้อย เป็นอะไรที่ดีมาก ๆ เลยทีเดียว

มาถึงด้านหลังกันบ้าง เป็นส่วนที่เอาไว้ใช้ติดกับตัวเรา ปกติไมค์ไร้สาย เราจะต้องหนีบไว้กับเสื้อของเรา แต่มันจะชอบมีปัญหาบางที ไมค์มันมีน้ำหนัก เสื้อมันบาง ทำให้มันห้อยโตงเตงออกมาไม่สวย ดูไม่เรียบร้อย ซึ่งใน DJI Mic 2 เขายังคงตัวเลือกของการหนีบไว้อยู่ แต่อีกตัวเลือกน่าสนใจมาก ๆ เราจะเห็น DJI Logo อยู่ในภาพ อันนั้นมันคือ แผ่นแม่เหล็กที่เราสามารถดึงออกมา ซ่อนมันไว้ใต้เสื้อ แล้วเอาด้านหลังของไมค์แปะเข้าไป มันจะแปะเป็นแม่เหล็กได้เลย ทำให้เราสามารถแปะไมค์ของเราไว้ตรงไหนของตัวก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า ตรงนั้นมันหนีบได้มั้ย เช่นเราใส่เสื้อยืด เราอยากแปะไมค์ไว้ตรงกลางเสื้อก็ย่อมทำได้ หรือเราเองจะชอบใช้ซ่อนไมค์ไว้ตรงขอบ ๆ เสื้อเชิ้ต มันจะมองไม่ค่อยเห็น ดูเรียบร้อย และยังได้เสียงดีอีก ประกอบกับ แม่เหล็กที่ให้มา แน่นมาก ๆๆๆๆๆ กอ.ไก่ล้านตัว เราว่าแปะไว้ เต้นเบเบ้ 3 วัน 3 คืน ยังไม่น่าหลุดได้

แต่ข้อเสียคือ ชิ้นแม่เหล็กมันมีขนาดเล็กมาก ๆ หากเราเอาไมค์ออก แม่เหล็กที่ไม่ได้ยึดกับเสื้อเรามันจะหลุด แล้วหล่นลงมา หากเอาเสื้อใส่ในกางเกงมันก็พอจะเอาออกง่าย ๆ แหละ แค่มันน่าเกลียดนิดหน่อย แต่ถ้าไม่ มันหล่นได้เลย เล็กอีก หล่นหายอีก ชิบหายการช่างได้เลย เรามองว่ามันเป็นไอเดียที่ดี แต่ยังไม่สุด อันที่สุดคือ Insta360 อันนั้น เขาคิดมาดีจริง เป็นแม่เหล็กลักษณะเดียวกัน แต่ทำเป็นสร้อยคอมาเลย แค่ห้อยแม่เหล็ก เอาไมค์แปะ พอดึงไมค์ออก ก็ถอดสร้อยคอคืน จบ สวย ไม่หายด้วย หวังว่าจะเป็นไอเดียให้ DJI แก้ในรุ่นหน้า

ส่วนด้านบนเป็น Microphone คุณภาพสูงมาก ๆ สำหรับรับเสียง และยังมีรูสำหรับเสียบ Deadcat สำหรับการใช้ Built-in Microphone หรือเราสามารถเสียบ Lavalier Microphone เข้าไปได้ด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มความเรียบร้อยในการใช้งาน ทำให้ไมค์ตัวนี้มีความยืดหยุ่นสูงมาก ๆ

ตัวรับ สวยมาก ๆ เขามีขนาดเล็ก และเบามาก ๆ ด้านหน้าเป็นหน้าจอ เห็นจอเล็ก ๆ นึกว่าแค่แสดงผล แต่มันเป็นหน้าจอสัมผัสนะ ทำให้เราควบคุมการทำงานของไมค์ได้ง่ายกว่าเดิมมาก ๆ และยังมี Knob สีแดง ๆ เพื่อช่วยให้เราเลื่อนไปยังตัวเลือก หรือจัดการไมค์ของเราได้สะดวกขึ้น

โดยเราสามารถ Mount ติดกับ Cold Shoe ของกล้องเราเท่านั้น ไม่มีตัวเลือกการหนีบกับอะไรทั้งสิ้น หาก Setup ของเรามีการเสียบอุปกรณ์อื่นเข้า Hot Shoe ของกล้องแล้ว จะเริ่มลำบากละ อาจจะต้องหา Rig บวกกับ Shoe Extension มาใส่มั้ย หรือยังไง

จุดที่เราชอบมาก ๆ ของการ Mount เข้ากับ Cold Shoe ของกล้องคือ มันสามารถเป็น Second Monitor ในการ Monitor เสียงได้เลย หากเราใช้กล้องถ่ายตัวเอง เราสามารถหันหน้าจอออกมาทางเลนส์ให้เรามองเห็นได้ หรือถ้าเราถ่ายคนอื่น เราสามารถหันเข้าหาคนถ่ายเพื่อ Monitor เสียงได้

เมื่อเราเสียบตัวรับเข้ากับกล้อง หน้าจอของตัวรับ จะแสดงผลเป็น Volume ของไมค์ทั้งสอง รวมไปถึงปริมาณแบตอีกด้วย ด้านบนสุดจะเป็นการตั้งค่า เช่นตัว M คือ Manual คือเราตั้งค่า Gain เองเป็น +9 ข้าง ๆ กัน พร้อมกับแสดงความชัดของสัญญาณตัวส่งทั้งสองอีกด้วย และเรายังสามารถใช้ Knob กด หมุน เพื่อเปลี่ยนการตั้งค่าได้อย่างรวดเร็วได้อีก ทำให้เราค่อนข้างคล่องตัวในการทำงานมาก ๆ

ด้านบนเขายังทำออกมาสวยมากคือ มีการเซาะร่องเป็น DJI Logo แล้วถมสีขาวเข้าไป คือเท่จริงอะไรจริง

มาที่ด้านหลังกันบ้าง ทางซ้ายมือสุด เราจะเห็นช่องเสียบ USB-C สำหรับการชาร์จแบต ซึ่งเอาเข้าจริง ปกติเราก็คงจะชาร์จผ่านเคส ที่มันจะใช้ Pin ทั้ง 4 ด้านขวาสุดของรูปในการชาร์จอยู่ดี แต่ ๆๆๆ มันยังมีของซ่อนอยู่ตรงกลางอีกด้วย

ตัวแผ่นมันสามารถเลื่อนออกมาได้ คล้าย ๆ ที่มีใน DJI Osmo Pocket เลย

และภายในเคส จะมีของอีก 2 ชิ้นด้วยกันคือ หัวแปลงสำหรับเป็น USB-C และ Lightning

โดยเราแค่เอาหัวแปลงนั้นสไลด์เข้าไปในช่องที่มันกำหนด เราก็สามารถเชื่อมต่อตัวรับ เข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เลย เช่นในภาพด้านบน เราเสียบหัว Lightning เข้าไป ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับอุปกรณ์ที่มี Lightning

ตัวอย่างเช่น เราเสียบเข้ากับ iPhone 14 Pro มันจะมี Prompt ขึ้นมาก่อนว่า แน่ใจมั้ยว่า เราจะเชื่อมต่อ เราแค่แตะ Confirm

เท่านี้เราสามารถใช้ไมค์จาก DJI Mic 2 ในการรับเสียงเข้าไปในการอัดวีดีโอ และการอัดเสียงได้แล้ว ข้อแตกต่างระหว่างการเสียบตัวรับ และ ต่อไมค์โดยตรงผ่าน Bluetooth คือ หากเราเสียบตัวรับเข้าไป เราจะสามารถใช้ไมค์ 2 ตัวได้ ในกรณีเช่นเราไปสัมภาษณ์มีพิธีกร และ ผู้ถูกสัมภาษณ์ เราก็สามารถใช้ไมค์ทั้งสองได้ แต่ถ้าเป็น Bluetooth มันจะเชื่อมต่อได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ลักษณะนี้จะเหมือนกับการเชื่อมต่อบนอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น DJI Action 4 และ DJI Osmo Pocket 3

พีคกว่านั้น เรายังสามารถเชื่อมต่อมันเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ในตัวอย่างนี้ เราเชื่อมต่อกับ Macbook Pro ผ่าน Thunderbolt Dock

ภายในหน้าต่าง Audio Input มันก็จะ Detect ตัวรับขึ้นมาเป็นเหมือน Microphone ปกติให้เราได้เลย เราชอบใช้เวลาต้องการทำ Video Conference ที่ค่อนข้างสำคัญมาก ๆ เช่นการสัมภาษณ์งาน หรือประชุมกับลูกค้าสำคัญ ๆ

โดยคุณภาพเสียงที่มันส่งเข้ามา จะได้อยู่ที่ 2ch 48kHz/24-bit Integer เท่านั้น ก็ถือว่าสูงมาก ๆ แล้วสำหรับการใช้งาน แต่เอ๊ะ เราบอกว่า มันสามารถอัดเสียงได้ที่ 32-Bit Float นิ ก็จริงแหละ แต่มันเป็นแค่เฉพาะ Internal Recording เท่านั้น หรือก็คือ เราจะต้องอัดเสียงโดยตรงผ่านตัวไมค์ และค่อยเอาไฟล์จากไมค์ทีละตัว แอบรู้สึกว่ายากไปหน่อยนะ คือ เราเสียบเสียงเข้ากล้องปกติ ไปดึงไฟล์เสียงจากไมค์แต่ละตัวมา และ Sync เสียงอีกทีใน Post แอบยุ่งยากเหมือนกัน

Feature อื่น ๆ ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

อย่างแรกที่เราพูดถึงหลายรอบแล้วคือ การอัดเสียงแบบ 32-Bit Float มันทำให้เสียงที่อัดลงไปมีคุณภาพสูงขึ้น เหมือนเราถ่าย RAW File บนภาพเลย ทำให้เวลาเราไปทำงานต่อบน Post เราสามารถทำงานได้ยืนหยุ่นมากขึ้น เช่น อาจจะมีการตะโกน และ ASMR เราก็ยังสามารถดึงเสียงที่เบา ๆ หรือดังมาก ๆ นั้นกลับมาในระดับที่ต้องการได้มากกว่าการอัดแบบทั่ว ๆ ไปพอสมควร

อีกจุดที่ ทำให้เราชอบมาก ๆ คือ มันมี Recommend Camera Settings ให้ด้วย คือ เวลาเราเสียบ TRS เข้ากับกล้อง ที่ตัวรับ มันก็มีการตั้งค่า Gain ก่อนส่งไปที่กล้อง และที่ตัวกล้องเองก็มีการตั้งค่า Gain อีก ปกติ เราจะต้อง Balance Gain ทั้งสองจุด เพื่อให้เสียงที่ได้มันอยู่ในระดับที่พอดี ๆ แต่ใน DJI Mic 2 เขาอำนวยความสะดวกให้เรา โดยการเก็บค่า Gain และการตั้งค่าต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับกล้องแต่ละรุ่นเลย

เมื่อเรากดเข้าไป เราจะต้องเลือก Brand และรุ่นของกล้อง เช่น ในที่นี้เราเสียบเข้ากับ Sony A7M4 เราก็แค่เลือกไป จากนั้น เราไปเลือก Gain ของกล้องให้เป็น 1 เท่านี้ เสียงที่เราอัดเข้าไปในกล้อง ก็จะอยู่ในระดับที่พอดีเองเลย ถามว่าถ้ามันไม่มี Feature นี้ทำเองได้มั้ย ก็ตอบเลยว่า ได้ แค่ว่ามันต้องมานั่งหาแหละ

และสุดท้าย คิดว่า Microphone หลาย ๆ ตัวมีติดมาให้แล้วคือ Low Cut Filter ที่จะตัดเสียงย่านต่ำออก พวกเสียงหึ่ม ๆ เสียงจากเครื่องยนต์ทั้งหลายออกไป อย่างที่บอกจาก Noise Cancelling คือ เราไม่ชอบการใช้ Filter เสียง ณ ตอนที่อัดเท่าไหร่ เราชอบเอามาแก้ Post มากกว่า เพราะการตัด Low Cut ในไมค์ตัวนี้ เราไม่สามารถเลือกระดับที่ต้องการจะตัดได้ มันอาจจะไปเกยกับย่านเสียงพูดของเรา ทำให้เสียงพูดขาดมิติจนมันไม่น่าฟัง

นอกจากนั้นยังมีอีกหลาย ๆ Feature ที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น การปิดตัวรับ เมื่อกล้องปิด ทำให้ตัวรับไม่ Drain Battery ไปเรื่อย ๆ และเมื่อเราเปิดกล้องอีกครั้ง ตัวรับก็จะเปิดตามด้วยเช่นเดียวกัน เท่านี้ลดโอกาสที่เราจะลืมเปิดตัวรับจนเสียงไม่เข้าได้แล้ว

คุณภาพเสียง และคุณภาพชีวิต

คลิปนี้เป็นคลิปที่เราอัดโดยใช้ DJI Mic 2 ทั้งหมด โดยไม่ได้มีการปรับเสียงอะไรทั้งสิ้น เสียงที่ได้ออกมา เรียกว่า ถูกใจเรามาก ๆ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย นอกจากเสียบ TRS เข้ากล้อง แปะไมค์กับตัวแล้วเริ่มอัดได้เลย จากเดิมที่เราใช้ Rode Wireless Go รุ่นแรก กว่าจะกดเปิดตัวรับ และตัวส่ง กว่าจะเสียบ หนีบกับสายคล้อง เอาไมค์มาหนีบกับตัวเองอีก อ้าวห้อยอีกใช้เสร็จต้องมานั่งชาร์จอีก การมาใช้ DJI Mic 2 สำหรับเราเป็นการล่นเวลาไปได้คลิปนึงอาจจะถึง 10 นาทีได้เลย

Sony Stereo Lavalier Microphone
Look what I found on sony.com.th/en/

หรือถ้าเราไม่ชอบไมค์ที่มันติดมากับตัวมันเอง เราก็แค่เสียบ Lavalier Microphone เข้าไป เราทดลองเอาไมค์ของ Sony รุ่น EVM-LV1 เสียบเข้าไป ตัวนี้เป็น Stereo Lavalier นะ แต่พอเสียบเข้าไปมันรับเสียงเป็น Mono ปกติ แต่คุณภาพเสียงที่ได้ ก็ดีขึ้นเยอะ อาจจะเพราะมันหนีบใกล้ปากมากขึ้น เลยทำให้รับเสียงพูดได้ชัดเจนมากกว่า เสียงแอร์ที่เป็นเบื้องหลัง ก็เบาลงอย่างเห็นได้ชัด

สรุป

DJI Mic 2 เป็นไมค์ที่ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นแรก ตามเสียงตอบรับของผู้ใช้เยอะมากจริง ๆ เราชอบ DJI ในจุดนี้มาก ๆ จนมาถึงในรุ่นที่ 2 นี้ มันทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่รู้ว่าเราจะต้องการอะไรจาก Wireless Microphone System แบบนี้อีกแล้ว มันทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้น เร็วขึ้น ยืดหยุ่นใช้กับได้หลายอุปกรณ์ทั้งกล้อง และโทรศัพท์ และ มั่นใจได้มากขึ้นมาก ๆ พร้อมทั้งคุณภาพเสียงที่ได้ก็ยังดีอยู่ ทั้งหมดที่เราว่ามา มันอยู่ใน Form Factor ในกระเป๋าที่มีขนาดแค่ฝ่ามือเราเท่านั้น เราจะพกไปถ่ายงานนอกสถานที่ก็ง่าย สำหรับ Feature ขนาดนี้ในราคา 12,500 บาท เราคิดว่า เห้ยไม่แย่นะ ไม่ได้บอกว่าถูก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแพง รู้สึกคุ้มค่า ทำให้เป็นไมค์ที่เราหลงรัก และ ชอบมาก ๆ จริง ๆ ให้ไปเลย 10 10 10