เล่าเรื่อง PaperTheme Redux

มาตามสัญญาที่จะเล่าเรื่องว่าเจ้า PaperTheme ที่กำลังใช้นี้มันมีที่มาอย่างไร ก็จะค่อย ๆ เล่าไปทีละ Process เรื่อย ๆ ละกัน ต้องเกริ่นก่อนว่า เว็บนี้จะมีการเปลี่ยน หรืออัพเกรดใหม่ในทุกช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง มิถุนายนของทุกปี

จุดประสงค์ที่ทำแบบนี้เป็นเพราะว่า อยากให้ตัวเองนั้นได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อย่างน้อยก็สักเรื่องในปีนั้น ๆ อาทิเช่นปีนี้ ผมขอยกให้เป็นปีแห่ง Frontend เพราะที่ผ่านมาทำอยู่ทางฝั่ง Backend และ Database Design ซะเป็นส่วนใหญ่ เลยอยากที่จะมาเรียนอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นเหมือนเขาวงกตในปัจจุบันนั่นคือ Frontend นั่นเอง

Understanding users

นอกเรื่องมาพอสมควรละ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ก่อนที่จะได้ Design ของ Theme นี้ออกมา ผมได้ลองศึกษาพฤติกรรมของคนที่เข้ามาอ่านเว็บ ว่าเข้าไปที่หน้าไหนบ้าง อย่างไร แล้วออกไปที่หน้าไหน หรือพูดในศัพท์เทคนิคคือ กำลังสร้าง User Persona ขึ้นมาคร่าว ๆ โดยใช้ Google Analysis ที่ผมฝังไว้ในเว็บเพื่อเก็บสถิติของผู้เข้าเว็บ และมี Tools อีกนิดหน่อยเพื่อให้ได้ข้อมูลมา

พบว่าส่วนใหญ่มักจะเข้ามาผ่าน Search Engine (เว็บเราอยู่บนอันดับต้น ๆ ของ Google เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ฮ่า ๆ) ซะเป็นส่วนใหญ่ แล้วจะเข้ามาอ่านสิ่งที่ตัวเองหา แล้วก็ออกไป หรือเปิดเข้าไปใน Tag ที่ตัวเองสนใจต่อ ฉะนั้น เรื่องของการเลือก และแสดงผล Tag และ Category ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

แล้วทำให้สงสัยต่อว่า แล้วจริง ๆ แล้ว Tag หรือ Category ที่คนน่าจะสนใจมากกว่ากัน คำตอบนั้นอยู่ที่ การเข้ามาของผู้อ่าน นั่นคือส่วนใหญ่จะเข้าผ่าน Search Engine เนื่องจากคนมักจะค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ เช่นบอกว่า อยากรู้เกี่ยวกับ Restful ว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไร คนอาจจะค้นหาว่า "Rest API คือ" ผลการค้นหาก็จะเป็นดั่งภาพด้านบน ที่เว็บของเราอยู่อันดับแรก ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการเข้าดูหน้า [[Dev Tip] เรียก REST API ง่าย ๆ บน PHP ด้วย Httpful][2] ที่ถูกเรียกเป็นอันดับหนึ่ง

จากข้อมูลใน Google Analytic ในส่วนของ Behavior Flow พบว่าผู้อ่านมักจะเข้ามาในหน้าของบทความโดยตรง และส่วนใหญ่ก็จะออกในหน้าบทความไปเลย ซึ่งทำให้สามารถสรุปได้ว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่เข้ามาโดยมีเรื่องที่ตัวเองนั้นสนใจอยู่แล้ว ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเข้าก็เข้ามา เหมือนเว็บข่าว

นอกจากเราจะออกแบบ Theme ได้เข้าพฤติกรรมของผู้อ่านแล้ว เรายังต้องเข้าใจว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ของเราเข้าเว็บไซต์ด้วยอะไร ซึ่งข้อมูลที่ได้นั่นบอกว่า ผู้อ่านของเรากว่า 59% เข้าเว็บผ่าน Windows โดยใช้ Google Chrome เป็น Web Browser และอันดับถัดไปเป็น Android เข้าผ่าน Google Chrome ที่มีหน้าจอที่ค่อนข้างเล็ก

ฉะนั้นจากข้อมูลทั้งหมด สามารถทำให้เราเข้าใช้ผู้อ่านของเว็บเราได้แล้วว่า ผู้อ่านมักจะเป็นคนที่ Search หา และเข้ามาผ่าน Search Engine ที่มีเรื่องที่ตนเองต้องการอยู่แล้ว ไม่ใช่เข้ามาหาอะไรอ่านไปเรื่อย และที่มักจะเข้าผ่านเครื่อง PC ที่รัน Windows และใช้ Google Chrome ซะเป็นส่วนใหญ่ และทางฝั่ง Mobile ก็จะเป็น Android ที่มีขนาดหน้าจอที่ค่อนข้างเล็กซะเป็นส่วนใหญ่

Applying Design Principle

หลังจากที่เราเข้าใจแล้วว่า ผู้อ่านที่เข้ามานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ผมก็นำข้อมูลเหล่านี้มาออกแบบมาให้เป็น Wireframe ในการออกแบบ มันจะมีเรื่องของ ทัศนศิลป์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเรื่องของ สี, เส้น และองค์ประกอบต่าง ๆ มาที่เรื่องแรกคือเรื่องของสี ผมเลือกใช้สีฟ้าเป็นหลัก

เพราะสีฟ้านี้ถูกใช้เป็นสีหลักมาตั้งแต่เริ่มเว็บไซต์นี้ขึ้นมา จริง ๆ เพราะเป็นสีที่ตัวเองชอบแหละ แต่พอใช้ไปมันก็กลายเป็นสิ่งที่ผู้อ่านมักจะจำไปโดยปริยาย

ในเรื่องของเส้น และองค์ประกอบ ผมให้โจทย์กับตัวเองว่า **ต้องใช้เส้นให้น้อยที่สุด แต่ยังทำให้คนแยกออกว่า นี่คือประเภทเดียวกัน หรือมันคือของคนละอย่าง **ซึ่งทำให้ผมนึกถึงเรื่อง Grouping Laws ของ Gestalt Principles ขึ้นมาซึ่งกฏนี้กล่าวไว้ 5 ข้อคือ

  1. The Law of Similarity
  2. The Law of Proximity
  3. The Law of Familiarity
  4. The Law of Common Fate
  5. The Principle of Closure

จริง ๆ ทั้ง 5 ข้อนี้ถูกนำมาใช้ทั้งหมดเลย แต่ข้อที่อยากจะเน้นคือ ข้อที่ 1 และ 2 เพราะนำมาใช้เยอะมาก อย่างที่บอกไปว่า โจทย์ของผมคือ ใช้เส้นแบ่งหน้า แบ่งส่วน Content ต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด กฏข้อที่ 1 และ 2 จึงถูกนำมาใช้

ถ้าสังเกตจากภาพด้านบนจะเห็นว่า ส่วนของ ชื่อหัวเรื่องและวันที่ลงจะอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่วันที่ลงจะเป็นสีเทาและตัวเล็กกว่า ในขณะที่ ส่วนของบทความถูกเว้นลงมาเยอะกว่า เป็นการทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ในทันทีว่า หัวเรื่อง กับ บทความมันเป็นของคนละอย่างกัน ซึ่งจะเข้ากฏข้อที่ 2 แต่เหตุผลที่เอาวันที่ตัวสีที่อ่อนกว่า เป็นการบอกความแตกต่างโดยใช้กฏข้อที่ 1

จะเห็นได้ว่า เราสามารถทำให้ผู้อ่าน เข้าใจได้ในแว่บแรกเลยว่า หัวข้อ นั้นไม่ใช่ Heading ของบทความเราได้อย่างง่ายดาย และทำให้หน้าเว็บของเราดู อ่านสบาย เป็นสัดส่วนด้วย เพราะมนุษย์เป็นสิ่งที่ชอบความเป็นระเบียบอยู่แล้ว

ภาพด้านบนเป็น ปุ่มแชร์จากเว็บในเวอร์ชั่นก่อน ที่จะอยู่ด้านล่างของบทความ ทำให้ผู้อ่านนั้นเห็นได้ยาก และทำให้โอกาสที่บทความจะถูกแชร์ออกไปน้อยลง มาในเวอร์ชั่นนี้ ผมเลยทำให้ปุ่มมันค้างอยู่ด้านขวาของหน้าจอไปเลย อยากจะกดเมื่อไหร่ก็กดได้ทันที

Developing Design

ในขั้นตอนของการออกแบบทั้งหมด ผมเลือกใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า Sketch ในการทำ Wireframe ทั้งหมด สำหรับใครที่ไม่รู้จัก Sketch มันคือโปรแกรมสำหรับใช้ในการออกแบบ Graphic Design ต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่นั้นจะเอามาออกแบบในเรื่องของ UI/UX เป็นหลัก ซึ่งตัวโปรแกรมนั่นเสียตังค์ และรันบน macOS เท่านั้นนะ ถ้าใครใช้ Windows อยู่ก็ย้ายมา macOS สิ ฮ่า ๆๆๆ

ขั้นตอนแรกของการออกแบบ ผมเริ่มจากการสร้างรูปแบบของสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องใช้ก่อน เช่น สี และขนาดของข้อความต่าง ๆ จากที่เห็นในภาพด้านบน ผมเริ่มจากการสร้างรูปแบบอักษรในขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ H1-H4 และ P Tag รวมถึงสีที่จะใช้อีกด้วย เพื่อให้เวลาเราเริ่มลงแบบของหน้าจอจริง เราจะได้ไม่ต้องกังวลว่าขนาดจะตรงมั้ยหรือยังไง เพราะเราเซฟมันไว้แล้ว ก็แค่เรียกใช้เท่านั้น

ถัดไปก็ต้องมาออกแบบของที่ต้องใช้ต่อ แต่จะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาขึ้น จากภาพด้านบน จะเป็นพวก Nagivation Bar หรือ Footer เป็นต้น ข้อดีของ Sketch คือมันสามารถเซฟวัตถุเหล่านี้เป็น Symbol แล้วเรียกใช้ที่ไหนก็ได้ในไฟล์เดียวกัน

และแล้วก็ถึงขั้นตอนของการ เอาวัตถุที่เราสร้างไว้มาแปะลงในหน้าเว็บ มันก็จะง่ายแล้ว เพราะเราสร้างวัตถุที่เราใช้บ่อย ๆ ไว้แล้ว เราก็แค่หยิบมันลงมาแปะในหน้าเว็บ สิ่งที่ Sketch มีให้เราอีกนั่นคือ ขนาดของหน้าจอแบบต่าง ๆ มาให้เลย เราไม่ต้องป้อนเอง เช่น Desktop, Iphone อะไรทำนองนั้น

ในการแปะของลงไปในหน้าเว็บ เราก็ต้องมานั่งคำนึงถึงว่า เราจะมี Margin ระหว่างวัตถุเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ผมหยิบเรื่องของ Fitts's Law มาจับเพื่อใช้ในการคำนวณ Margin ระหว่างวัตถุแต่ละอันในหน้าเว็บ เพื่อให้เว็บออกมา ดูแล้วรู้สึกโล่ง สบายตา และ เข้าใจความหมายของแต่ละอย่างได้ง่ายขึ้น

แต่ในการออกแบบหน้าแต่ละหน้า ผมจะใช้ Mobile First เป็นหลักในการออกแบบ โดยเริ่มออกแบบจากหน้าจอที่มีขนาดเล็กก่อน แล้วค่อยเอามาขยายให้ใหญ่ทีหลัง เพื่อทำให้เราสามารถ Focus กับสิ่งที่เราจะสื่อมากขึ้น เพราะการที่หน้าจอนั้นมีขนาดเล็ก แค่เราใส่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อก็เต็มแล้ว มันก็เป็นวิธีการจำกัด Content ที่ไม่จำเป็นได้ดีเหมือนกัน

It's just the beginning of PaperTheme

ทั้งหมดที่ได้เขียนมา เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ก็กินเวลาไปเป็นส่วนใหญ่ของการทำ PaperTheme ออกมา จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายจุดที่ได้นำหลักการทั้งทางจิตวิทยา และทัศนศิลป์รวมเข้าด้วยกัน ตัวเลขทุกค่าบน Wireframe นั่นมีที่มาหมดทุกตัว โดยส่วนตัวนั้นไม่ใช่คนที่มาในสายออกแบบ แต่ปีที่ผ่านมา ก็ได้เรียนรู้ในเรื่องของทัศนศิลป์มาจากการถ่ายภาพ และวิชาชื่อว่า Human Computer Interface (HCI) ที่คณะเลยเอามาปรับใช้กับงานนี้เป็นงานแรก

บทความอาจจะยาว และมีสาระมากไปหน่อย ฮ่า ๆ ไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างไร ตอนต่อไปจะเป็นการที่เราเอา Wireframe ที่ทำจาก Sketch ไป Implement เป็น Theme ออกมาจริง ๆ กัน จะสนุก จะฮ่า จะมึนแค่ไหน รออ่านตอนต่อไปได้เลย

งานขาย ! ตอนนี้ PaperTheme3 ก็ถูก Public ขึ้น Github แล้วลองเข้ามาดูกันได้ ถ้าพบปัญหาก็แจ้ง Issue ได้เลยนะครับ