ลองกันอีกสักตั้ง iPad Pro ใช้แทนคอมพิวเตอร์ได้มั้ย
เมื่อ 3 ปีก่อน เรามีความพยายามที่จะใช้ iPad Pro เครื่องเดิมแทนคอมพิวเตอร์ ไหน ๆ ตอนนี้เราเปลี่ยน iPad Pro ใหม่แล้ว เราจะมาลองกันอีกสักตั้งว่า เมื่อเวลาผ่านไป มันใช้งานจริงได้มากขึ้นหรือไม่
ลักษณะการทำงาน
การทำงานของเราส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ งานเขียนโปรแกรมและงาน Content ที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่ตอนนี้
Setup ที่เราใช้งานตอนนี้ คือ iPad Pro 13-inch M4 พร้อมกับอุปกรณ์เสริมอย่าง Magic Keyboard ราคามหัศจรรย์ และ Apple Pencil Pro ที่ทำให้เราสามารถใช้งาน iPad ได้คล้ายกับการใช้ Laptop มาก ๆ คือ มี Keyboard สำหรับพิมพ์ และ Trackpad แทนเมาส์
พื้นที่การทำงานส่วนใหญ่ของเรา จะอยู่บนโต๊ะเป็นหลัก ไม่มีการเดินไปใช้งานไป และส่วนใหญ่จะมี Public WiFi ให้เราได้ใช้งานอยู่แล้ว หากไม่มี เราสามารถ Personal Hotspot จากโทรศัพท์ได้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อรุ่นที่ต่อ Cellular Network ได้ และหากใช้ต้องเสียค่าซิมอีก
อุปกรณ์ตัวอีกตัวที่เราจะพกคือ USB-C Hub ที่มี Ethernet ด้วย เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้อง Remote เข้าเครื่องที่ไม่ได้ต่ออินเตอร์เน็ต การต่อ iPad เข้ากับ Management Port ผ่าน Ethernet
อีกตัวที่พกเพิ่มคือ External SSD เราใช้เป็น Thunderbolt External Enclosure เพราะเราใช้ตัวเครื่องความจุเพียงแค่ 256 GB เท่านั้น แต่เราต้องตัดวีดีโอขนาดใหญ่ ทำให้เราจะต้องมี Storage เพื่อทำงานบนนั้นเลย
ดังนั้นในกระเป๋า เราก็จะมีแค่ iPad, USB-C Hub, External SSD และ Adapter สำหรับการชาร์จแค่นั้นเลย ซึ่งรวม ๆ กัน ไม่น่าจะเกิน 1.5 kg เท่านั้นเอง ซึ่งเบากว่า Macbook Pro 14-inch ที่เราใช้เป็นประจำซะอีก เลยยิ่งทำให้เรายิ่งสงสัยว่า ถ้าเราเอา iPad Pro ชุดนี้มาใช้งานแทน มันน่าจะทำให้เราแบกน้ำหนักเบาลงไปเยอะ
App ที่ใช้ทำงาน
ในการทำงานของเราจะใช้งานอยู่ไม่กี่ App เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่เราทำงานผ่าน Web Browser ซะเกือบหมด เพราะมันให้ประสบการณ์เดียวกับเวลาเราใช้ macOS ที่สุดแล้ว ทำให้ App แรกที่เราใช้ง่ายบ่อยที่สุดคือ Safari ถามว่า แล้วทำไมเราไม่ใช้พวก Google Chrome เป็นเพราะพวก Bookmark ต่าง ๆ เราเซฟอยู่บน iCloud ยังไงละ เลยมาใช้ Safari น่าจะเหมาะสมกว่า
การจัดการ Note และ Content Manager ทั้งหลาย เราใช้ Obsidian เป็นหลัก เพราะเป็น App เดียวกับที่เราใช้บน macOS และด้วย Plugin อย่าง LiveSync ทำให้เราสามารถ Sync Note ไปกลับจากทั้งบน macOS และบน iPadOS แบบอัตโนมัติ เรียกว่า กึ่ง ๆ Real-time เลยก็ว่าได้ ประกอบกับพวก Plugin ตัวไหนลงบน macOS ได้ ก็ลงบน iPadOS ได้เช่นกัน ทำให้เราได้รับประสบการณ์การใช้งานที่คล้ายกันมาก ๆ มาด้วยกันเลย
การจดแบบขีด ๆ เขียน ๆ เราใช้ Notability เป็นหลัก เพราะเป็นตัวที่เราใช้งานมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่มันจะเริ่มทำเป็น Subscription ส่วนใหญ่จะเป็นพวกการอ่าน Paper แต่ตอนนี้เราเริ่มขยับมาใช้ Goodnote มากขึ้นละ พบว่ามันมี Approach ในการจัดการ Note ที่แตกต่างกัน วันหลังเราจะมาเล่าความต่างให้อ่านกัน
การแต่งภาพ เมื่อก่อนเราใช้ Affinity Photo เราคิดว่า หากเทียบกับ Adobe มันจะเป็นเหมือน Photoshop ที่เป็นการแก้ไขรูปภาพแบบ Layer-Based มากกว่า ซึ่งเราต้องการอะไรที่มันคล้าย ๆ Adobe Lightroom Classic ตอนนี้เลยไปใช้ Photomator แทน ซึ่งบอกเลยว่า ประทับใจมาก ทั้งใช้งานง่าย และ เร็วด้วย เราเคยเขียนรีวิวไว้ อ่านได้ที่นี่
ส่วนถ้าต้องทำพวก Content รูปภาพ หรือ Thumbnail เราจะเลือกทำบน Affinity Designer ทั้งหมด เน้นใช้ Vector Image เพราะเรารู้สึกว่า มันทำงานง่าย เราสามารถย่อขยายอะไรได้ง่าย และ Feature ส่วนใหญ่ที่เราใช้ มันก็ทำได้หมด และค่อนข้างลื่นมาก ๆ ในสเกลงานที่เราทำไม่ใหญ่มาก ประกอบกับ เราสามารถซื้อเป็น Universal License ได้อีก คือ เราซื้อครั้งเดียว สามารถใช้งานบน iPad และ macOS ได้หมดเลย และไฟล์ยังสามารถเปิดข้ามกันไปมาได้อย่างอิสระด้วย แค่ว่า เวลาไฟล์ไหนทำใน iPad มาแล้วเอาไปเปิดใน macOS ครั้งแรก มันจะโหลดช้ามาก แต่หลังจากนั้นก็ชิว ๆ เปิดเร็ว ใช้งานได้ลื่น ๆ ปกติ กับอีกปัญหาคือ เมื่อเราชินกับบน macOS มาก่อน เวลาย้ายมาใช้ใน iPadOS ที่มันไม่มีคำสั่ง คลิกขวา ทำให้เครื่องมือที่เราเคยกดจากตรงนั้นมันย้ายไปอยู่ที่อื่นหมด และมันไม่มี Menu Bar ด้านบนอีก แปลว่ามันย้ายไปอยู่สักที่ ปัญหาคือ เราจะต้องมานั่งหานี่แหละ เราคิดว่า การออกแบบ UI ของ iPad มันไม่เหมาะกับโปรแกรมที่ คำสั่งเยอะมาก ๆ ทำให้หายาก กินเวลาการทำงานมหาศาลมาก ๆ
สำหรับงานตัดวีดีโอ สำหรับเรา เรามีตัวเลือกอยู่ทั้งหมด 3 ตัว แต่เราเลือก LumaFusion เข้ามาใช้งาน เพราะ มันจ่ายครั้งเดียว ไม่ต้องกด Subscription และสำคัญมาก ๆ สามารถใช้ไฟล์จาก External Storage ได้เลย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากพอที่จะ Copy Footage ลงในเครื่องได้ ประกอบกับพวก Feature การทำงานต่าง ๆ อย่าง Colour Grading, Voice Isolation และ Text Overlay อะไรพวกนั้น มีมาให้เราหมดแล้ว ทำได้เยอะด้วย มันจะขาด Feature บางอย่างเช่น Selective Masking และ Motion Tracking ที่เราคิดว่า LumaFusion อาจจะขยับตามมา และความสนุกของมันคือ เราสามารถ Export ออกมาเป็น Final Cut Pro X Project ได้ด้วย แต่ต้องเสียเงินเพิ่ม ซึ่งเราบั้ยบายยย เรา Export เก็บเป็น Package ของมันเองละกันนะ ไม่เป็นไร ฮา ๆ
และสุดท้าย สำหรับงานเขียน Code ทั้งหลาย ส่วนใหญ่เราทำงานกับพวก HPC อย่าง DGX System ซะเยอะ ทำให้ความต้องการเราน้อยมาก ๆ เราขอแค่ SSH Client เท่านั้นเราพอละ ที่เหลือเราทำงานบนเครื่องโดยตรง เข้าคิวรันงาน หรือ เขียน Code เราสามารถทำผ่าน Built-in IDE อย่าง vim และจัดการหน้าต่างผ่าน tmux ตัวที่เราเลือกใช้คือ Terminus แต่ถ้าเป็นงาน Development อื่น ๆ ที่เราจะต้องใช้ Development Environment บนเครื่องตัวเอง ณ วันนี้ iPad ยังทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากใช้ PC ไปก่อน
โดยรวม ตั้งแต่ Apple เริ่มเปลี่ยน SoC ไปใช้ Apple Silicon บน Mac ทำให้ App ที่เรามีบน iPad เราสามารถเอาไปใช้งานใน Mac ได้ด้วย ทำให้ความใกล้ชิดของ 2 อุปกรณ์มันมากกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เราทำงานบน LumaFusion บน iPad เราอยากจะแก้ เราสามารถโหลด App จาก App Store มาแล้วเปิด Project File ต่อได้เลย
Multitasking Experience?
ปกติ เวลาเราทำงานกัน เราอาจจะต้องมีการเปิดหลาย App พร้อม ๆ กัน เช่น เวลาเราเขียน Content อยู่ตอนนี้เราจะต้องเปิด Files App คู่กันไปด้วย เพราะเราจะต้องลากรูปมาประกอบ ซึ่งจุดนี้แหละ เราคิดว่า เป็นข้อเสียของ iPad เลยก็ว่าได้
ต้องเข้าใจกันก่อนว่า Tablet ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำ Multitasking แต่แรก Feature ที่เติม ๆ กันเข้ามาตอนนี้ มันเหมือน ตัดแปะ ๆ กันซะมากกว่า จึงทำให้ประสบการณ์ที่ได้ถือว่า ไม่ดีสักเท่าไหร่ แม้กระทั่งการที่ Apple จะออกความสามารถในการทำ Stage Manager ขึ้นมาแล้ว และอนุญาติให้เชื่อมต่อหน้าจอนอกเป็นหน้าจอที่ 2 ได้แล้วก็ตาม ต้องยอมรับว่า หากใครใช้งาน Multitasking เยอะ ๆ เราคิดว่า iPad ทำให้ยุ่งยากกว่าเดิมเยอะ นั่นเป็นอีกเหตุผลนึงที่ เราไม่พูดถึงการเอา iPad เสียบออกหน้าจอนอกเลย ประสบการณ์ที่ได้มันยังไม่ดีมากพอที่จะเอามาพูดได้ ต้องปรับแก้อีกเยอะ
แต่กลับกัน การที่มันไม่เก่งเรื่อง Multitasking ทำให้เราสามารถ Focus กับงานที่อยู่ตรงหน้าได้ดีกว่า เลยกลายเป็นอุปกรณ์ เพื่อนคู่คิด เวลาเราต้องการคิดไอเดีย หรืองานอะไรที่เราจะต้อง Focus กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก ๆ มันช่วยได้เยอะเลย จากข้อเสียก็มีข้อดีเหมือนกัน
จากอุปกรณ์ที่ใช้ง่าย สู่ Learning Curve ที่โคตรชัน
ในช่วงแรก iPad หรือ Tablet ต่าง ๆ ถูกออกแบบมาในแนวทางเดียวกับ Mobile Device คือ การทำได้ไม่ต้องเยอะ แต่ต้องง่าย และ เร็ว ทำจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งการออกแบบนี้ มันพยายามจะลด Learning Curve ในการใช้งาน ให้เข้าใจ และใช้งานได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า คนเริ่มมองว่า Tablet มันคือ Laptop Replacement ไปซะแล้ว
ทำให้ Application หลาย ๆ ตัวจะต้องออก Feature ต่าง ๆ ที่บน PC มี ซึ่งความสามารถมันเยอะมาก ๆ และเขาไม่สามารถใช้ UI เดียวกับ PC ได้ด้วย ซึ่งต้องมานั่งออกแบบใหม่ ในไอเดียที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และตอนนี้มันไปในทางที่การใช้งานยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Affinity Designer ที่เราใช้มานานมาก ๆ บน macOS พอมาใช้ใน iPadOS เราต้องใช้เวลาสักพักในการเรียนรู้ใหม่เกือบหมดว่า เมนูคำสั่งอันนี้อยู่ตรงไหน
สุดท้าย จาก Device ที่ควรจะให้ Learning Curve ที่ตื้น ๆ หัดใช้งานได้ง่าย ๆ กลับเริ่มกลายเป็นอุปกรณ์ที่มี Learning Curve ชัน หัดใช้งานได้ยากมาก ๆ ประกอบกับ วิธีการ Interact ที่แตกต่างกัน ต้อง Support ตั้ง Touch Screen และ Mouse Keyboard ยิ่งทำให้การใช้งานยากเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะใน Application ที่มี Feature เยอะ ๆ
สรุป: แทนได้บางงาน แต่....
หากมองจาก Workflow การทำงานของเราทั้งหมด iPad ในวันนี้ยังไม่สามารถทดแทน Laptop เราได้ทั้งหมด แต่เรียกว่า สามารถงานส่วนใหญ่ได้ 80% เลยละกัน และเรายอมรับเลยว่า มันทำได้ดีกว่าเมื่อ 3 ปีก่อนที่เราเขียน Content นี้ซะอีก
มันดีขนาดที่ว่า เราเห็นคนที่ใช้มันเป็น อุปกรณ์หลักในการทำงาน เยอะขึ้นเรื่อย ๆ บางคนเราไปถาม เขาไม่มี Laptop หรือไม่ใช้มันทำงานแล้วด้วยซ้ำ เขาใช้แค่ iPad อย่างเดียวเลยก็มี และจากการสอบถาม เราคิดว่า มันน่าจะเข้ามาแทน Laptop ได้กับผู้ใช้สัก 90% เลยทีเดียว ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่เขาทำงานทั่ว ๆ ไปที่ไม่ซับซ้อนมาก อย่างการทำงานเอกสาร, Web Browsing และ Media Consumption มากกว่า
นอกจากนั้น มันยังสามารถเข้ามาทดแทน ในแบบที่ดีกว่า สำหรับคนที่ทำงานพวก Digital Art ที่เคยต้องอาศัยพวกเมาส์ปากกา ตอนนี้เขาสามารถพกเครื่องเดียว แล้วออกไปทำงานได้ง่ายกว่าเดิมเยอะ
โดยสรุป เราเลยอยากบอกว่า หากใครที่อยากจะเอามาแทน Laptop เราอยากให้ ลองดูที่งานของเราก่อนว่า งานที่เราทำนั้น มี Application มารองรับหรือไม่ และ Application ที่ออกมานี้ มันทำให้เราทำงานได้ดีกว่า หรือเท่าเดิมมั้ย ถ้าไม่ เราก็ยังไม่แนะนำให้ฝืนเท่าไหร่ รอให้มันดีกว่านี้ค่อยใช้ก็ยังทัน