เปิด Server ในบ้านเสียค่าไฟเท่าไหร่
หลังจากที่เราเปิด Server ในบ้านมาหลายตัวมาก ๆ เราสงสัยมาก ๆ ว่า ถ้าเราเอา Server เข้ามาเปิดแบบ 24/7 จะเสียค่าไฟเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ค่าไฟแพง เรามาดูกันดีกว่าว่า ถ้าเราเอา Server มาวางเราจะเสียเงินค่าไฟเท่าไหร่
ค่าไฟคิดอย่างไร ?
สำหรับคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า ค่าไฟคิดอย่างไร เรามาเริ่มจากตรงนี้ก่อนละกัน เราต้องแยกกันนะ ระหว่าง กำลัง (Power) และ พลังงาน (Energy) โดยที่การวัดค่าไฟ เราจะใช้หน่วยที่เป็นพลังงานในการวัด เป็นหน่วย kWh
และ การวัดกำลังเราจะวัดเป็น Watts หรือ W เฉย ๆ เป็นตัวย่อ ซึ่งการแปลงจากกำลังเป็นพลังงานง่าย ๆ 1 kWh คือ เมื่อเราใช้กำลัง 1 kW เป็นเวลา 1 ชั่วโมงแค่นั้นเลย ดังนั้นสมมุติว่า ถ้าเราใช้ไฟ 100W เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เราจะใช้พลังงานไป 0.1 kWh และเราคิดต่อ 1 วันมี 24 ชั่วโมง และ 1 เดือนมี 30 วัน ดังนั้น 1 เดือนเราจะใช้พลังงานไปทั้งหมด 0.1 x 24 x 30 = 72 kWh
จากนั้น เราจะเอาพลังงานไปคิดค่าไฟ ถ้าเอาง่าย ๆ เลยเราแนะนำให้ใช้ ระบบประมาณการค่าไฟฟ้า ของ PEA ได้เลย ง่าย ๆ เลย เริ่มจากเลือกประเภทก่อน โดยบ้านทั่ว ๆ ไป เราก็จะอยู่ในประเภทที่ 1 คือผู้ใช้ตามบ้าน ส่วน 1 จุดอะไร ขึ้นกับการใช้ไฟของเราว่าเกิน 150 หน่วยหรือไม่ ให้เราดูที่บิลก็ได้ จากนั้นเราแค่เอาพลังงานที่เราคำนวณได้มาเมื่อสักครู่คือ 72 kWh ไปใส่ในช่อง แล้วกดคำนวณได้เลย
โปรแกรมมันจะคำนวณให้เราหมดเลย ทั้งการบวกค่าไฟฐาน, ค่าบริการ, ค่า Ft และ VAT ต่าง ๆ ให้เราทั้งหมด ดังตัวอย่างด้านบน เราจะโดนค่าไฟอยู่เดือนละ 363.13 บาท (สำหรับเดือนกันยายน 2565)
ค่าไฟ Server บ้านเราเอง
อย่างที่หลาย ๆ คนน่าจะทราบกันแล้วว่า เว็บที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่ตอนนี้ Hosting อยู่ในบ้านเราเอง ซึ่ง Hardware ที่เราใช้จะเป็น Synology DS1621+ บวกกับ Synology DX512 ที่เป็น Expansion Bay ใช้กับ HDD ขนาด 4 TB ทั้งหมด 8 ลูกด้วยกัน แล้วต่อผ่าน UPS อีกที
Hardware ขนาดนี้ เรามองว่า ถ้าสำหรับบ้านทั่ว ๆ ไป Hardware ที่ใช้อาจจะไม่ขนาดนี้ ทำให้เรามองว่า ถ้าจะเทียบ น่าจะเอามาเทียบในสเกลของ SME มากกว่า โดยทั่ว ๆ ไป อุปกรณ์ทั้ง 2 ชิ้นนี้จะกินกำลังอยู่ตั้งแต่ 79.27 - 119.19 W ด้วยกัน เดือน ๆ นึงจะใช้พลังงานอยู่ที่ 66.91 kWh อย่าลืมนะว่าอันนี้เป็น NAS ที่ใช้ CPU ที่ค่อนข้างมีพลังเยอะหน่อย ถ้าเราไปใช้ตัวที่ต่ำกว่านี้เช่นพวก Intel Celelon ในรุ่นพวก DS420+ หรือต่ำลงไปอีก การใช้พลังงานจะน้อยกว่านี้มาก ๆ ประกอบกับเราใส่ Expansion Bay เข้าไปอีกมันยิ่งใช้พลังงานหนักเข้าไปอีก
ถ้าเราเอาตัวเลขพลังงานคือ 66.91 kWh ไปใส่ในโปรแกรมประมาณค่าไฟของ PEA (ขอใส่เป็น 67 kWh นะเพราะเขาใส่เป็นทศนิยมไม่ได้) เราจะโดนอยู่ที่ 340.75 บาทเท่านั้นเอง และ 1 ปี เราก็คูณ 12 เข้าไปจะอยู่ที่ 4,089 บาทไปเลยจุก ๆ เรียกว่า ก็ไม่น้อยนะ สำหรับค่าไฟบ้านน้ะ แต่ถ้าเรามองเป็น SME เลย เพราะ Hardware เราว่าเราไปสเกลนั้น ก็ถือว่าไม่เยอะมากเท่าไหร่
การเลือก Server/NAS ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ
โดยทั่ว ๆ ไป เวลาเราเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้งานสักเครื่องนึง เราจะคิดแค่ว่า เครื่องนี้มันทำงานได้เร็วมากพอที่เราต้องการหรือไม่ เราอาจจะเอาเครื่องที่เร็วกว่าที่เราต้องการไปหน่อย เผื่ออนาคตไปเลย แต่การเลือก Server/NAS มันต่างออกไป เพราะอุปกรณ์พวกนี้ เราจะเปิดอยู่แบบ 24/7 ไม่ปิดเลย ทำให้มันกินไฟตลอด
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย การเลือก Server เลยเพิ่มเรื่องของ ความประหยัดไฟฟ้า หรือก็คือ ประสิทธิภาพต่อกำลังไฟเข้ามาคิดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งเลยก็ว่าได้ เครื่อง Server พวกนี้จะต้องทำงานได้ เสถียร เร็วมากพอ และ ใช้พลังงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง
บางครั้ง การเลือก Server ที่พอดีกับการใช้งานของเรา และใช้ไฟน้อยที่สุด เลยเป็นการเลือกอะไรที่ฉลาดกว่าการเลือกเครื่องที่อาจจะแรงมาก ๆ แล้วกินไฟเยอะก็ได้ โดยเฉพาะบ้าน ที่เราอาจจะไม่ได้หากำไรจากมัน อาจจะเอามารัน Smart Home หรืออะไรก็ตาม เราเลยควรเลือกตัวที่พอดีกับเรามากกว่าเอาแรง ๆ ไปเลย