กว่าจะได้ 1 บทความ มันต้องผ่านอะไรบ้าง ?

กว่าจะมาเป็นบทความสักบทความ พวกเราอาจจะถามกันว่า “มันจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง ? กว่าจะเป็นสักบทความนึง” ผมเชื่อว่ามันคงเป็นคำถามที่ หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้สนใจมันเท่าไหร่ เพราะมันเป็นขั้นตอนที่เป็นเบื้องหลังซะส่วนใหญ่ บ้างก็ว่า ผมแอบดองบ้างละ หายตัวบ้างละ วันนี้เลยจะมาแชร์ว่า กว่าที่บทความสักบทความนึงจะขึ้นในเว็บผมนั่น มันต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง

1. คิดหัวข้อ


Draft Content

จริง ๆ ตรงนี้ก็ไม่ได้นั่งขุ่นคิดอะไรขนาดนั้นนะ ไอเดียเขียนดี ๆ มันมักจะมาตอนที่เรากำลังสบาย ๆ เช่นตอนกำลัง อาบน้ำ หรือ เข้าห้องน้ำ อะไรทำนองนั้น แต่หลัก ๆ ของบทความในเว็บนี้ เราก็จะมีการกำหนด Theme ไว้ล่วงหน้าแล้วละว่า ช่วงนี้จะเขียนออกมาในแนวไหน เรื่องอะไรบ้าง บางเรื่องก็ทำออกมาเป็นซีรีส์ยาว ๆ ก็มี ขึ้นกับเวลาที่มีช่วงนั้น แต่ก็อาจจะมีการขัดด้วยเรื่องอื่นบ้างถ้ามีเรื่องที่อยากเขียนกระทันหัน หรือเป็นเรื่องที่มันต้องเขียนเดี๋ยวนั้นเพราะเวลา

เรื่องส่วนใหญ่ที่จะเขียน เราก็น่าจะเห็นกันอยู่ว่าส่วนใหญ่ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวก Coding และ Technique ต่าง ๆ ที่ผมได้เรียนมา กับพวก Milestone ต่าง ๆ ในชีวิตผมที่ผ่าน ๆ มา ก็ถือเป็นการเล่าประสบการณ์ให้กับคนอื่น ๆ อ่านว่า ที่ผ่านมาผมผ่านอะไรมาบ้าง และอีกเหตุผลคือ ผมอยากเก็บไว้อ่านในวันข้างหน้าด้วย

หลัก ๆ หลังจากที่รู้แล้วว่าจะเขียนเรื่องอะไร ผมจะ Mark ลงใน Google Keep พอจะเริ่ม Draft ก็จะเขียนออกมาคร่าว ๆ ก่อนว่า หลัก ๆ บทความมันจะออกมาอารมณ์ไหน แล้วจะมีหัวข้อย่อยอะไรบ้าง ? แล้วค่อยเขียน ไม่งั้นเวลาเขียนแล้วผมมักจะหลุดหัวข้อเป็นประจำเลย

2. Write & Re-Write

หลังจากที่ ผมรู้ละว่าจะเขียนเรื่องอะไร ขั้นตอนต่อไปก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากนั่นคือ การเขียน นั่นเอง แต่ก็นะ ผมเองก็เป็นคนนึงที่ไม่ถนัดเรื่อง การเขียน กับ ภาษาไทย สักเท่าไหร่ ประกอบกับ เรื่องส่วนใหญ่ที่ผมเขียนมักจะเป็นเรื่อง Technical ที่บางทีเราอาจจะต้องแปลภาษา Geek 🤓 ให้คนธรรมดาเข้าใจ

เว็บนี้เกิดขึ้นมาครั้งแรก โดยผมอยากจะสร้างมาเป็นที่ที่ผมเอาไว้แชร์ความรู้ที่ผมได้เรียนมาให้คนอื่นต่อไป เหมือนกับการส่งต่อความรู้นี่แหละ ฉะนั้นดารที่จะทำให้คนเข้าใจง่ายที่สุดคือ การใช้ภาษาที่ง่าย และการจินตนาการ เพื่อช่วยให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

แต่ก็อย่างที่บอกมาว่า การเขียน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผมถนัดเท่าไหร่ แต่ตอนเรียน Academic Writing ที่คณะ อาจารย์ก็จะให้เขียน แล้วเอาที่เราเขียนมาเขียนใหม่อีกรอบ ซึ่งจริง ๆ มันช่วยให้บทความเราอ่านง่ายขึ้นเยอะมาก ๆ ก็จากที่อ่านกันก็น่าจะเห็นแล้วละว่า ผมพยายามทำให้บทความมันเข้าใจได้ง่ายขึ้นดีกว่าการเขียนภาษาเอเลี่ยน 👽 ให้อ่านกัน

เวลาเขียนผมจะพยายามเขียนให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผมไม่หลุดเรื่องออกทะเลกับทำให้ข้อความมันกระชับมากที่สุด ส่วนเรื่อง Device ที่ใช้ ผมจะทำใน iA Writer ใน iPad ซะเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลที่ใช้แบบนี้เพราะ Smart Keyboard ของ iPad Pro มันพิมพ์แล้วมันส์มาก ๆ และอีกเหตุผลคือ iPad มันไม่สามารถทำ Multitasking ได้เก่งเท่ากับ macOS หรือ Windows บนเครื่องคอมจริง ๆ ทำให้ผมสามารถ Focus กับบทความได้ดีกว่า อาจจะใช้ Spotify ช่วยหน่อยนึง เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมในการเขียน

แต่เวลาเขียน มันก็ไม่ได้แค่จะเขียน ๆ แล้วเสร็จ แต่เวลาเขียนผมยังนึกถึงเรื่องของ SEO หรือ Search Engine Optimisation หรืออีก พูดง่าย ๆ มันคือ การทำให้บทความของเราอยู่ในหน้าแรก ๆ ของการค้นหาของ Google หรือ Search Engine ต่าง ๆ ซึ่งมันก็จะมีกฏของมันอยู่ เช่นบอกว่า จำนวนคำต้องมากกว่า 300 คำ หรือจะต้องมี Focus Word โน้นนี่นั่นเท่าไหร่ก็ว่ากันไป ซึ่งจริง ๆ อันนี้เมื่อก่อนตอนใช้ Wordpress ผมดูผ่าน Yoast SEO ที่เป็น Plugin ใน Wordpress ที่ช่วยให้เราทำ SEO ได้ง่ายขึ้น ทำให้เวลาเขียน เราก็ต้องมานั่งปรับเรื่องของการใช้คำบางอย่างเพื่อให้มันเข้ากับกฏของมัน


Google Trends

เช่นการเปลี่ยนการใช้ Focus Word บางอย่างที่เขียนแล้วใช้เยอะเกินไป ก็อาจจะต้องลบคำนั่นออกแล้วเปลี่ยนเป็นการใช้สรรพนามแทนอะไรทำนองนั้น มันก็มีหลาย ๆ เทคนิคในการทำให้บทความเราติด Top Search อยู่นะ ซึ่งปกติเวลาเขียนบทความ บางคนอาจจะเข้าไปดูใน Google Trend เพื่อดูว่า Keyword ไหนที่เราควรเอามาเป็น Focus Word แต่ก็นะ เว็บผมก็อินดี้ ๆ หน่อยก็เลยไม่ทำ แต่ก็ขึ้น Top Search ในหลาย ๆ Keyword จนตอนนี้ผู้อ่านส่วนใหญ่ เข้ามาผ่านการ Search เกือบหมดแล้ว

3. วาดรูป

ถ้าสังเกตในบทความใหม่ ๆ มานี้ผมจะนิยมวาดรูปเองซะเป็นส่วนใหญ่ เอาจริง ๆ เป็นเพราะไม่ค่อยอยากไปก๊อปรูปใครเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยรู้ในเรื่องของการเอามาใช้ว่าเราต้องทำอะไรยังไงบ้าง ก็เลยพยายามวาดเอง หรือ ก็ไม่ใส่เลย จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ไปเจอหลาย ๆ เว็บที่เป็นรูปฟรีเอามาใช้ได้ (แต่ต้องให้ Credit อยู่นะ) หลังจากนี้เราก็จะใส่รูปดี ๆ มากขึ้นละ

ส่วนการวาดรูปเนี่ยก็ยอมรับแต่โดยดีเลยว่า เป็นคนวาดรูป 🎨 กาก มาก ซึ่งก็พยายามทำให้มันดีขึ้นอยู่เรื่อย ๆ นะ ถ้ามีวิธีดี ๆ กับเรื่องนี้จะดีมาก ๆ ซึ่งในการวาดจริง ๆ ไม่สิ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงตอนนี้ ผมจะทำบน iPad หมดเลย เพราะ iPad Pro มันมีทั้ง Keyboard และ Pencil เลยทำให้ทำได้หมดทุกอย่างตั้งแต่เริ่มเลย

4. ย้ายลง Markdown + Deploy

หลังจากที่ได้บทความ และรูปประกอบทั้งหมดแล้ว ผมก็จะ Airdrop ของทั้งหมดไปลงใน Laptop และเอาเข้าใน Project ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมก็อาจจะย้ายที่เขียนจาก iA Writer ลงใน App Wordpress ได้ แต่ตอนนี้ผมไปใช้ Static Stie Generator อย่าง Gatsby ทำให้เวลาผมจะเอาบทความขึ้นที่ต้องเอาไฟล์มา Build แล้วสั่ง Deploy เอาง่าย ๆ คือมันลำบากขึ้น เพราะต้องมาเปิดคอมแล้วเอาขึ้น แต่ในอนาคต เวอร์ชั่นต่อ ๆ ไปก็จะพยายามเขียนตัวช่วยอะไรพวกนี้ให้ดีขึ้น เพราะไม่งั้นนี่ลำบากแน่ ๆ กว่าจะเอาขึ้นที

สรุป

ก็สรุปง่าย ๆ วันนี้ก็มาเล่าเรื่องกว่าจะมีเป็นบทความสักอันนึง มันก็มีหลาย ๆ ขั้นตอนที่เราต้องทำ หลัก ๆ ถ้าไม่ได้เป็นบทความที่ต้องย่อยข้อมูลมาก ๆ ก็ราว ๆ 2-3 วันต่อบทความกันเลย แต่ก็นะ ผมก็เป็นสาย Technical เพียวที่พยายามจะเป็นสาย Content บ้าง แรก ๆ บทความของผมมันอาจจะอ่านยาก และไม่สนุกเท่ากับเว็บอื่น ๆ แต่ก็หวังว่าอนาคตผมจะเก่งขึ้น และสร้าง Content ที่ดีป้อนให้กับผู้อ่านทุกคนละกันนะครับ ถ้าใครมีข้อแนะนำติชมสำหรับการเขียนบทความแล้วก็ละก็ Comment มาด้านล่างได้เลยครับ วันนี้ก็หมดละ มาแค่นี้แหละ สวัสดีครับ 🤟

ปล. แต่ละที่ก็มี Workflow ที่ต่างกันไป ก็ไม่ต้อง งง นะว่ามันไม่เหมือนชาวบ้านเขา บอกเลยว่านี่ก็ทำแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ เลย