จะซื้อเลนส์กล้อง จะเอาช่วงระยะเท่าไหร่ หรืออะไรยังไง ?

หลังจากตอนก่อนเรามาคุยกันเรื่องของกล้องตัวแรกกันแล้ว สำหรับคนที่ใช้งานกล้อง Compact ไม่ต้องซีเรียสเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ใช้กล้องแบบที่เปลี่ยนเลนส์ได้ บทความนี้แหละ จะมาตอบคำถามให้กับทุกคนเองว่า ควรจะเอาเงินไปลงกับเลนส์แบบไหนดี ถึงจะคุ้มทุนที่สุด

ปล. แก ๆ ที่ชั้นขาย Sony ขนาดนี้ เขาไม่ได้จ่ายนะ แต่เราใช้เลยเอามาแชร์ได้เยอะ

ปล2. เราพูดถึงในแง่ของการใช้เท่านั้น ถ้าชีวิตขับเคลื่อนด้วยกิเลส ก็ข้ามไป แล้วไปเอาอย่างที่ใจอยากเถอะ

เลนส์หนึ่งตัว ควรดูอะไรบ้าง ?

ส่วนนี้สำหรับคนทั่ว ๆ ไปที่เป็นมือใหม่เลยละกัน โดยทั่ว ๆ ไป เอาง่ายสุด ๆ เลย เวลาจะกดเลนส์สักตัว เราจะดูอยู่ 2 ค่าด้วยกัน คือ ระยะเลนส์ และ ค่าความกว้างรูรับแสง (ที่ชอบเรียกค่า F อะไรกันนี่แหละ)

เริ่มที่ระยะเลนส์เป็นตัวแรก เลขยิ่งเยอะ เหมือนยิ่งซูมเข้าไปเรื่อย ๆ เช่น เลนส์ 35mm ก็จะให้ภาพที่กว้างกว่า 70mm แน่นอน แต่ 70mm จะได้ภาพที่ไกลกว่านั่นเอง มองอีกแง่คือ ถ้าแบบ เราอยู่เท่ากัน แล้วต้องการได้ภาพที่เหมือนกัน เราใช้ 70mm เราต้องเดินถอยออกตัวแบบไปเยอะกว่า 35mm แน่นอน

เลนส์ในตลาด ถ้าเราแบ่งตามความสามารถในการเปลี่ยนระยะ มันจะมีอยู่ 2 แบบคือเลนส์ซูม  หรือก็คือเลนส์ที่เราสามารถปรับค่าระยะได้ในตัว เช่น 24-70mm นั่นแปลว่า เราสามารถใช้เลนส์ตัวเดียวนี่แหละ ถ่ายได้ตั้งแต่ช่วง 24-70mm ง่าย ๆ ไปเลย

และเลนส์อีกแบบเราเรียกว่า เลนส์ฟิค หรือก็คือ มันจะฟิค (Fixed) ระยะไว้เลย เช่น 85mm อ่าวมาแล้ว อ้าว งี้เลนส์ซูมมันก็ดีกว่าสิ เพราะมันถ่ายได้หลายระยะในอันเดียว แต่เราจะบอกเลยว่า พอมันปรับระยะเลนส์ไม่ได้ นั่นแปลว่า คนที่ออกแบบชุดเลนส์ ก็สามารถออกแบบมาให้มันมีประสิทธิภาพสูงมาก ๆ  และน้ำหนัก (ส่วนใหญ่) ยังเบากว่า ตัวอย่างที่เราใช้งานก็จะเป็น Sony FE 35mm F/1.8 และ Sony FE 85 GM F/1.4

ค่าอีกค่าที่เราอยากให้ดูก็คือ ค่าความกว้างของรูรับแสง เราจะชอบบอกกันว่า ค่า F อะไรนั่น ตัวเลขนี้ดูไม่ยาก ยิ่งเลขน้อย ก็ยิ่งมีรูรับแสงที่กว้างมากขึ้น รับแสงได้เยอะมากขึ้น เป็นผลดีมาก ๆ กับการถ่ายในที่แสงน้อย แต่แน่นอนว่า ยิ่งกว้างแล้วดีขนาดนี้ ราคาก็แน่นอนว่า แพงขึ้นมาก ๆ เลยเหมือนกัน เราเทียบเอาเ_ย ๆ เลยนะคือ Sony FE 35mm F/1.8 กับ Sony FE 35mm GM F/1.4 ราคาจะอยู่ที่ 22,900 และ 49,990 บาท จะเห็นว่าห่างกัน 2 เท่าได้เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเลนส์ในระยะเดียวกันคือ 35mm เลย

แต่เราต้องเข้าใจอีกหน่อยว่า จริง ๆ แล้วเราจะเห็นว่า ระยะมันเท่า แล้วค่าความกว้างมันต่างกันแค่ 0.4 เท่านั้นทำไมราคามันต่างกันได้ขนาดนี้ ส่วนนึงมันก็เป็นเพราะการออกแบบ และ ผลิตที่ยากขึ้น ใช้ชิ้นเลนส์ที่คุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้รับแสงได้เยอะขึ้นนั่นเอง ยังไม่นับเรื่องการออกแบบพิเศษหลาย ๆ อย่างเช่นใน GM ทั้งหลายเรื่อง Bokae เขาทำได้กลมขึ้นมาก เพราะม่านที่เขาใช้ครีบมันเยอะขึ้นอะไรแบบนั้น

ทั้ง 2 เรื่องที่เราเล่าไป เป็นเพียงความต่างใหญ่ ๆ ของเลนส์เท่านั้น จริง ๆ แล้วมันยังมีเรื่องมอเตอร์ที่ใช้ในการโฟกัส เรื่องของสี สไตล์ต่าง ๆ อันนี้เป็นเรื่องยิบ ๆ ละ ถ้าเราซื้อเลนส์ไปสักหน่อย น่าจะพอเห็นความต่างแล้วน่าจะพอรู้แล้วว่า อยากได้อะไร

เลือกเลนส์

จริง ๆ แล้วการเลือกเลนส์มันมีหลายวิธีมาก ๆ แต่เราจะแนะนำ 2 Step ของความชิบหายให้ดีกว่า ขั้นแรก เราจะแนะนำให้หาเลนส์ที่ช่วงกว้าง ๆ ก่อน โดยเฉพาะคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ลองใช้ไปเรื่อย ๆ แล้วเราน่าจะเจอระยะที่เราชอบ หรือใช้งานบ่อย ๆ ออกมา โดยที่เลนส์ตัวนี้ ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เราจะแนะนำให้ซื้อกล้องพร้อม Kit Lens มาเลย พวกนี้ส่วนใหญ่ จะให้ช่วงที่กว้างมาก ๆ ให้เราได้ทดลองมองหาจุดที่เข้ากับเรา

จากนั้น ขั้นตอนที่ 2 คือ เรารู้ช่วง อะไรที่เราชอบแล้วเราก็ไปกดช่วงนั้นแหละ เป็นเลนส์ฟิคมาเลย คุณภาพจะได้ดี ๆ หน่อย อย่างน้อย เราก็รู้แล้วว่า มันน่าจะเป็นตัวที่เราใช้งานบ่อยแน่ ๆ ซื้อมาจะได้ใช้ ไม่นอนตู้เฉย ๆ แน่นอน แล้วเลนส์ช่วงกว้างตัวเก่ายืนพื้นไว้แล้ว เราก็เอาไว้ถ่ายในสถานการณ์อื่น ๆ ได้อยู่ดี

ตรงขั้นตอนที่ 2 นี่แหละ ที่แมร่งคือความ ชิบ หาย ทาง การ เงิน อย่างแท้จริง เพราะมันจะงอกไม่มีที่สิ้นสุดนี่แหละ แรก ๆ เราก็มี 24-70mm อยู่ดี ๆ เออชอบ 35mm ได้ งั้นเอามา สักพักถ่าย ๆ ไปเห้ย 85mm เจ๋งสัส อะมาอีกตัว มันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เชื่อเราเถอะ กล้องไม่เคยจบ

เลนส์ตัวเดียว เที่ยวรอบโลก

ตัวเลือกแรก สำหรับคนที่ยังไม่อยากชิบหายทางการเงินมาก ไม่อยากพกเลนส์ไปเที่ยว หรือไปถ่ายงานหลาย ๆ ตัว หยิบกล้องใส่เลนส์แล้วเยี่ยวต๊าชได้เลย เราคิดว่า อาจจะต้องมองหาเป็นเลนส์ในกลุ่มที่ซูมได้ ช่วงระยะกว้าง ๆ หน่อย

ช่วงมันจะเป็นหลักกว้าง ๆ หน่อยอย่าง 18mm ไม่ก็ 28mm แล้วไปจบที่หลักร้อยไปเลย ตัวอย่างเป็นตัวที่เราใช้ละกันคือ Sony E PZ 18-105 มม. F4 G OSS ตัวนี้คือแซ่บเลยละ เพราะมันสามารถที่จะซูมได้ตั้งแต่ 18mm ที่กว้างมาก ๆ แล้วไปได้ถึง 105mm เรียกว่า น่าจะครอบคลุมการใช้งานทั่ว ๆ ไปได้เยอะมาก ๆ แล้ว แต่หลาย ๆ คนอาจจะตกใจว่า โอ๊ะ F.4 มันจะได้เหรอ ถ่ายมาแล้วมันจะไม่มืดเหรอ แล้ว Bokeh มันจะได้เหรอ

เอาจริง ๆ เลยนะ มันได้นะ F.4 เรามองว่า ไม่แย่สำหรับการถ่ายแบบนี้เลยนะ งานทั่ว ๆ ไป สบาย ๆ ส่วนพวก Bokeh Effect อะ ต้องยอมรับว่า มันอาจจะยากหน่อย วิธีคือเราใช้ข้อดีของการมีช่วงที่แคบมาก ๆ อย่าง 105mm เราก็ซูมเข้าไปเยอะ ๆ แล้วเอาตัวแบบให้ห่างจากฉากหลังหน่อย เราก็ได้ Bokeh Effect แล้ว (ไว้เราจะมาเล่าว่า ถ่ายยังไงถึงจะได้สวย ๆ)

ของเทพ !!!!!!! เห็นแล้วหวั่นไหว อยากจะเข้าไปบายยยย

หรือในแก๊งค์พวก Full Frame ถ้าเป็นเลนส์สามัญประจำกล้อง เรายกให้เป็นเลนส์ในช่วง 24-70mm ไปเลย มีตัวเลือกเยอะมาก ๆ อย่างเราใช้ของ Sony เอง มันก็จะมี Sony FE 24-70 mm F2.8 GM ที่ราคาเดือดมาก ๆ แต่คุณภาพโหดสัส ๆ หรือลงมาอีกเลนส์ค่าย Sony เหมือนกัน ก็จะเป็น Sony Vario-Tessar T* FE 24-70 มม. F4 ZA OSS เป็นชิ้นเลนส์ Zeiss ไปเลย โหดสัส ๆ แต่ราคาก็ลงไปอีกเช่นกัน

หรือจะดอยไปนอกค่ายที่เราใช้ก็จะเป็น Sigma Lens 24-70 mm. F2.8 DG DN ( Art ) อันนี้บอกเลยว่า ถึงจะเป็นนอกค่าย แต่ก็เฟี้ยวมากเหมือนกัน โดยเฉพาะ ART Series ของ Sigma ขึ้นชื่อเรื่องความคม คมบาดตา บาดใจมาก ๆ ในราคาที่จับต้องได้ ก็ใกล้ ๆ กับ Zeiss ของ Sony แหละ

เดินถ่ายสวย ๆ ชิค ๆ

Olympus E5 Mark II + Olympus M.Zuiko Digital 17mm f/1.8

จุดนี้เราน่าจะมีเลนส์ช่วงกว้าง ๆ เลนซูม ยืนพื้นแล้ว จุดงอกจะออกละ เราอาจจะอยากได้เลนส์ที่เราเอาไปใช้เดินเล่น ถ่ายไปเรื่อย ๆ แนว Street หรือไม่ก็ออกไปเดินถ่ายรูปกับเพื่อนในสวนสวย ๆ การใช้งานประเภทพวกนี้ เราแนะนำให้มองหาเลนส์ที่มีน้ำหนักเบาที่สุดจะดีมาก เราไม่อยากแบกเลนส์เกือบโล กับกล้องออกไปเดินเล่นแน่นอน

ซึ่ง ก็อาจจะมองหาได้หมดนะ ทั้งเลนส์ฟิค และ ซูมก็ได้หมดเลย เรามองว่า ถ้าเรายังไม่เซียนมาก อาจจะเริ่มจากเลนส์ซูมก่อน แต่ช่วงอาจจะไม่ต้องยาวเท่ารอบแรกแล้ว มองหาเป็น 16-35mm เราว่ากำลังดีเลยคือ จะถ่ายวิว ก็ได้ช่วง 16mm กว้างมาก ๆ มายืนพื้น แล้วถ้าเราอยากได้ Portrait คน คนเดียว เราก็เดินเข้าใกล้แบบหน่อย สวนอะไรพวกนั้นใหญ่อยู่แล้วมีที่เดินเข้าอะไรแน่นอน  เราก็หมุนไป 35mm ได้เลย แล้ว 35mm อาจจะกว้าง เราก็เดินเข้าใกล้ ๆ แบบอีก เราก็จะได้ Bokeh Effect สวย ๆ ได้แล้วโดยที่เราไม่ต้องไปหาเลนส์ F กว้าง ๆ เลย F4 ยังเอาอยู่สบาย ๆ เลย

ตัวที่เราใช้อยู่ก็น่าจะเป็น Sony FE 35mm F1.8 เป็นอันที่เราชอบมาก ๆ ตัวนึงเลย มันเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการมองเห็นเรามาก ๆ เวลาเรามองเห็นมุมดี ๆ เราแทบจะยกแล้วกดได้เลย ไม่ต้องเดินแก้อะไรเยอะ น้ำหนักมันไม่เยอะ ตัวเล็ก เวลาใส่เข้ากับกล้องแล้วมันไม่ได้ดูใหญ่เทอะทะไปหมด ยิ่งเอาไปใส่กับ Sony A6400 ยิ่งเล็กเข้าไปใหญ่เลย กับ F1.8 ก็ถือว่ากว้างมาก ๆ แล้วละ ถ่ายกลางวันก็อัด Shutter Speed ขึ้นหน่อย ยังไม่น่ากว้างขนาดต้องเอา ND Filter ช่วยหรอก ถ้าอยากได้ Bokeh โหด ๆ กลางคืน เราก็ได้ F1.8 ที่กว้างมาก ๆ ไม่กลัวแสงน้อยในเมืองเท่าไหร่

เลนส์ถ่ายเมีย ถ่ายแฟน

สำหรับสายพ่อบ้านทั้งหลายแล้ว การถ่ายคุณภรรเมีย และ แฟน ของคุณให้สวยเป็นเรื่องของความเป็นความตายเลยก็ว่าได้ หรือสำหรับเคสทั่ว ๆ ไปก็จะเป็นการถ่าย Portrait เอาจริง ๆ สำหรับเรา เราไม่ได้แคร์เรื่องระยะอะไรเท่าไหร่นะ แต่หลาย ๆ คนจะแนะนำให้ลองดูระยะ 50mm หรือ 85mm ดู มันอาจจะมีหลักการอะไรอยู่นะ แต่อันนี้ไม่รู้จริง ๆ

เท่าที่ได้ลองมา เราจะชอบระยะประมาณ 85mm ในการถ่ายมากกว่า เพราะมันจะเป็นระยะที่เราไม่ต้องเดินเยอะเท่าไหร่ เราอยู่ห่างแบบที่เราถ่ายปกติแล้วเราก็เปลี่ยนเลนส์ ยกกล้องแล้วแทบจะกดได้เลย มันน่าจะอยู่ประมาณครึ่งตัวพอดี ๆ พอระยะมันแคบ ส่วนนึง มันก็ทำให้เราโฟกัสไปที่แบบได้มากขึ้นด้วย นอกจากนั้น เรายังได้เรื่องของ Bokeh Effect ที่หลาย ๆ คนชอบได้ง่ายมาก ๆ เพราะระยะที่แคบมาก ๆ กับเลนส์พวกนี้ค่ารูรับแสง มักจะกว้างมาก ๆ เช่น F1.8 ลงไปยัน F1.0 ก็มีนะ

สำหรับของเราเองเลนส์ในกลุ่มนี้ที่เราใช้ เอาตัวดี ๆ ไปเลยเป็น Sony FE 85mm F1.4 GM ไปเลย เรียกว่าตัวดุไปเลย ก็คือเรื่อง Performance ความอลังเราว่า GM Lens ของ Sony มันไม่มีที่กังขาแล้วละ ความคมขั้นสุดยอด Bokeh กลมดิ๊ก แต่แลกมากับราคาอันเดือด ๆ เลยก็ว่าได้

แต่เรื่องนึงที่เรารู้สึกจากการใช้เลนส์ช่วง 50mm และ 85mm คือ เราไม่สามารถ Create มุมใหม่ ๆ ได้เยอะเท่าไหร่ เพราะมันแคบนี่แหละ ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะเราถ่ายพวกนี้ไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ เราจะถนัดใช้ 35mm มากกว่า เช่น เราอยากถ่ายเสยขึ้น ให้ขาดูยาว เรารู้สึกว่า เรากด 85mm ไปมันแห้ง ๆ ยังไม่พอใจเท่าไหร่ ต้องฝึกอีกเยอะ

สาย Landscape

Sony A6400 + Sony E PZ 18-105mm F4 G OSS (Original)

อันนี้แหละ ถนัดเราเลย พวกนี้จะเน้นการถ่ายบรรยากาศ การเก็บบรรยากาศของพื้นที่เยอะ ๆ ดังนั้น เลนส์ที่เราแนะนำจริง ๆ จะเป็นเลนส์ที่ระยะตัวเลขน้อย ๆ หน่อย อย่างช่วง 16-35mm เาว่ากำลังดีเลย เป็นช่วงที่เดินอร่อย เดินมันส์มาก กดวิวได้เรื่อย ๆ เลย ถ้าเราไปเดินตามพวกตามสวนเก็บบรรยากาศคนวิ่ง ๆ ต้นไม้ที่อยู่ในสวน เราว่า ใช่เลย

ส่วนเลนส์พวกนี้ เราเฉย ๆ เรื่องค่า F เลยนะ F4 เราก็เฉย ๆ แล้วละ เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราถ่ายในที่ ๆ มีแสงเยอะอยู่แล้ว เผลอ ๆ เราจะทำให้ F แคบลงด้วยซ้ำ เพื่อให้เราเก็บทุกระยะให้คมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เลนส์ที่เราใช้ในกลุ่มนี้จะเป็น Sony Vario-Tessar T* FE 16-35 มม. F4 ZA OSS เป็น Zeiss อีกแล้ว แมร่งของดีจริง ตัว Body ก็ดีนะเป็นโลหะ ความคงทนโอเคเลย แต่ข้อเสียของเลนส์ตัวนี้คือ น้ำหนัก ล้วน ๆ เรามองว่า น้ำหนักมันแอบเยอะไปหน่อย โดยเฉพาะ ถ้าเราต้องเดินหาที่ถ่ายเยอะ มันจะเมื่อยคอมาก ๆ ในการห้อยไป

แต่ถ้าใครบอกว่า โอเค เราเป็นสายล่าช้าง อยากออกไปล่าทางช้างเผือกพวกนี้เราจะแนะนำเลนส์ที่กว้างเหมือนกัน แต่พวกนี้เราจะต้องกด F ให้กว้างมาก ๆ เพราะเราจะต้องเก็บแสงจากดาวที่มันลิบหรี่มาก ๆ ทำให้เราไม่ต้องดัน ISO สูงเมื่อเทียบกับ F ที่แคบกว่านั่นเอง ตัวอย่างพวก Sony FE 14mm F1.8 GM

กับอีกรูปแบบที่เราเห็นคนเล่นกันเยอะ แต่ไม่เคยใช้เองเหมือนกันคือพวกกลุ่ม Super-Tele ทั้งหลาย เช่น 200-700mm เช่นเราอาจจะถ่ายจากยอดเขานึงไปอีกยอดนึง หรือที่ชัด ๆ เลยคือพวก Cityscape บางแบบที่เราเอาเลนส์ช่วงยาว ๆ แบบนี้มาเพื่อ ดึงระยะ Background เพราะยิ่งเลนส์มันยาวขึ้น เวลาเราถ่ายออกมา ระยะ Background มันจะดูตื้นขึ้น กล่าวคือ ตึกข้างหลังที่มันห่าง ๆ กันมันจะดูชิด ๆ กันหน่อย ทำให้จุดโฟกัสสายตาเวลาเราดูรูปมันจะไปอยู่ที่ตึก หรือส่วนที่เราต้องการได้ง่าย พวกกลุ่มนี้เรามองว่า ไม่น่าจะมาอ่านพวกนี้แล้วละ เขารู้แล้วว่าเขาต้องการอะไรแล้ว

จัดเซ็ตกันเถอะ !

เลนส์ทั้งหมดที่เราเล่าไป น่าจะพอครอบคลุมการใช้งานทั่ว ๆ ไปแล้วละ ไม่นับพวกที่ถ่าย Macro หรือพวกไปดูนก ถ่ายกีฬา อะไรพวกนั้นมันจะมีเลนส์ช่วงที่คนปกติไม่ใช้กันเท่าไหร่ เป็นกิจกรรมที่คนทั่ว ๆ ไปไม่ได้ทำกันบ่อย เราข้ามไปละกันนะ

ทีนี้ถ้าเราบอกว่า เรามีเลนส์แล้ว เราอยากจะออกไปข้างนอก เราจะจัดเซ็ต เอาเลนส์ตัวไหนไปบ้างดี อันนี้ส่วนตัวเรามองว่า ขึ้นกับประสบการณ์ และ บรีฟ ของเราเลยว่า เราอยากจะถ่ายแบบไหน เรายกตัวอย่าง ช่วงนี้ของตัวเองเลยคือ ไปถ่ายรูปรับปริญญาละกัน

อย่างแรก การไปถ่ายพวกนี้เดินเยอะ และร้อนมาก ๆ ของมันก็เยอะอยู่แล้ว ทำให้ Requirement แรกคือ เอาไปให้เบา และ น้อยที่สุด โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว รูปพวกนี้ส่วนใหญ่ เราจะคุยกันอยู่ที่ตัวบัณฑิตซะเยอะ อาจจะมีกลุ่มเพื่อน ๆ ก็อาจจะหลายคนหน่อย หรืออาจจะถ่ายบัณฑิตคนเดียว มีคนเข้ามา Portrait มาละ

ทำให้เลนส์ตัวแรกเลยที่เราหยิบไปแน่ ๆ คือเลนส์ถ่ายคนพวก 50mm และ 85mm หยิบไปแน่ ๆ เราเห็นตากล้องบางคนก็ล่อ 105mm เลย เก่งชิบหาย !

อีกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ น่าจะเป็นการถ่ายพร้อมกันหลาย ๆ คน ถ่ายเป็นกลุ่ม การใช้เลนส์ช่วง 50,85 และ 105mm น่าจะไม่ไหวแน่ ๆ ถอยยาวเลยนะ ทำให้เราอาจจะต้องติดเลนส์ที่กว้างหน่อยไปอีกตัว อาจจะเป็นช่วง 35mm เราก็ชอบ แต่เพื่อความปลอดภัยเราจะเอา 24-70mm ไปมันจะง่ายกว่า เพราะคุณภาพมันก็ได้ ช่วงมันก็มี 24 ที่ถ่ายกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ แล้วสเกลลงไปได้เรื่อย ๆ จนก่อนถึง 85mm ที่ตอนนั้นเราก็จะเปลี่ยนเลนส์แล้ว

กับช่วงกว้าง ๆ อย่าง 24mm เราก็สามารถเอามาเล่นกับบัณฑิตคนเดียว เป็นพวกรูปที่เล่นกับสถานที่หน่อย เอาตัวคนใส่เข้าไปเพื่อการเล่าเรื่องหน่อย การใช้ช่วงเลนส์ที่กว้าง ก็จะช่วยเรื่องนั้นได้ดีมาก ๆ

บางคนอาจจะเอา Flash ไปด้วย แต่เอาเถอะ เราไม่ใช่สายนั้นเลยข้ามไปละกัน ใครใคร่ใช้ก็ใช้ไป ด้วยจำนวนเลนส์เพียง 2 ตัว แต่เราได้ช่วงตั้งแต่ 24-85 mm ไปเลย รองรับการถ่ายรูปที่น่าจะเกิดขึ้นได้เกิน 90% แล้วละ สบาย ๆ แทบจะไม่ต้องแก้สถานการณ์ Workaround ในการถ่ายเยอะละ เวลาถือ เราก็อาจจะเอากระเป๋าเล็ก ๆ สักใบ เอาเลนส์ใส่กล้องไว้ตัวนึงแล้วอีกตัวไว้เปลี่ยน พอละง่าย ๆ

สรุป

ทั้งหมดที่เราเล่ามา เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้นนะ ใครที่ใช้ไม่เหมือนกันอย่าเอาชั้นไปแขวนนะ เพราะเอาจริง ๆ แล้ว เราเองก็เอาเลนส์ 35mm มาถ่าย Portrait อยู่นะ มันขึ้นกับเทคนิค และความถนัดส่วนตัวแล้วละ การถ่ายรูปมันเป็นเรื่องของศิลป์ซะเยอะ ขึ้นกับเราจะเล่าเรื่องอะไรมากกว่า ก็เรียกว่า ขอให้ได้ ขอให้โดนเลนส์ละกันเด้อ สวัสดี