รวม Homebrew Package ที่รักส์
Homebrew เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เราชอบมาก ๆ มันทำให้เราสามารถติดตั้งโปรแกรม และเครื่องมือต่าง ๆ ได้เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่วันนี้ เราจะมาแนะนำ 5 Homebrew Package ที่เรารักส์และใช้งานบ่อยมาก ๆ กันว่าจะมีตัวไหนกันบ้าง
tree
brew install tree
เราว่าหลาย ๆ คนที่ทำงานกับไฟล์จำนวนเยอะ ๆ ถ้าเป็นบน GUI มันไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะมันแสดงผลให้เราเห็นทั้งหมดในหน้าจออยู่แล้ว แต่บน Command Line มันไม่เหมือนกัน เราจะต้อง ls ดูเรื่อย ๆ ว่ามันมีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง และ ถ้าเราอยากรู้ข้างใน Subfolder เราจะต้องไล่เปิด แล้ว ls ดูไปทีละตัว แล้วจินตนาการภาพเอา แต่มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าเราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นแล้วบน Command Line เราขอแนะนำ tree เลย
เมื่อเราติดตั้งลงไปแล้ว เราสามารถเรียก tree เฉย ๆ บน Command Line โดยมันจะแสดง File และ Folder ต่าง ๆ ที่อยู่ในตำแหน่งที่เราอยู่แบบที่เห็นในภาพด้านบน ทำให้เราสามารถเห็นภาพของไฟล์ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเดิมเยอะมาก หรือถ้าเราต้องการเลือกตัวเลือกมากกว่านั้น ให้ลองไปดูใน Document ได้ มันจะมีตัวเลือกให้เราเลือกอยู่หลายอย่างมาก เช่น การให้แสดงเฉพาะ Folder เท่านั้น เป็นต้น และถ้าเราใช้กับพวก Pipe เราจะทำอะไรได้สนุกกว่าเดิมเยอะมาก ๆ
ctop
brew install ctop
ถ้าใครใช้พวก Linux อาจจะคุ้นเคยกับคำสั่ง top สำหรับแสดงพวกการทำงานของเครื่องว่า CPU Utilisation เป็นยังไงบ้าง การใช้งาน Memory เป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันเราทำงานกับ Container กันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วทำไมมันจะไม่มี top เพื่อใช้ดูสถานะของ Container กันบ้างละ เราขอแนะนำ ctop เลย
สิ่งที่เราจะได้มาคือ สถานะของ Container ทั้งหมดที่รันอยู่บนเครื่องของเรา บอกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น CPU Utilisation, Memory Usage, IO และ Network ทำให้เราเห็นภาพรวมมันได้ง่ายขึ้น เช่น สมมุติว่า เรา Load Test ระบบของเราบนเครื่อง แล้วเราอยากรู้ว่า Container หรือ Service ไหนที่กิน Resource เยอะ ๆ แทนที่เราจะต้อง Setup ระบบ Monitoring เต็ม ๆ ดู เราสามารถพอจะใช้ ctop ดูคร่าว ๆ ก่อนได้
นอกจากนั้น เรายังสามารถเลือกขอดูแค่ Container เดียวก็ได้ หรือกระทั่ง เรายังสามารถสั่ง Start/Stop จนไปถึงการเข้าถึง Shell ของ Container ผ่านหน้านี้ได้โดยตรงโดยไม่ต้องเขียน Command ยาว ๆ เรียกเลยแหละ
ส่วนตัวเรา จะเอามาใช้กับงานที่ต้องจัดการ Container จำนวนเยอะมาก ๆ ทำให้เราสาามารถจัดการและเข้าถึงมันได้สะดวกกว่าที่เคย เราคิดว่า ดีที่สุดคือ เราสามารถ Monitor การทำงานของแต่ละ Container ที่อาจจะนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทำ Profiling เบื้องต้นได้
htop
brew install htop
top ธรรมดา ที่ Built-in มาให้ใช้งาน บางทีมันแอบดูยาก มี Stat และ Process อยู่เต็มไปหมด เราอยากได้อะไรที่หน้าตาดีกว่านี้หน่อย เราขอนำเสนอ htop ไปเลย
หน้าตาของ htop บอกเลยว่า ดีกว่า top ธรรมดาเยอะมาก ด้านบนเป็นพวก CPU แยกออกมาเป็น Core และ Memory Utilisation ทั้ง Memory จริง ๆ และ Swap Usage เรียกว่ามีข้อมูลครบมาก ๆ พร้อมทั้งยังแสดงพวก Process ที่กำลังรันอยู่ และเรายังสามารถ Kill Process ที่ไม่ใช้งานออกไปได้อีก เรียกว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการทำ Monitoring เครื่องที่ดีตัวนึงเลยแหละ
jq
brew install jq
jq ชื่อแปลก ๆ หน่อย แต่เป็น JSON Processor ตัวนึงที่เข้ามาช่วยเราเยอะมาก เพราะเราทำงานกับ JSON File เยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ เปิดไฟล์ขึ้นมา หรือเรียก API แต่ปัญหาหลักคือ เมื่อเราเปิดขึ้นมาแล้ว มันจะอ่านลำบาก สรุปต้องไปเปิดในโปรแกรม หรือ Web Browser นั่นนี่ แต่ jq เข้ามาช่วยเราได้เยอะมาก ๆ
curl <some_api_route> | jq
ส่วนใหญ่ เรามักจะใช้ curl แล้ว Pipe มันเข้าไปที่ jq เราก็จะได้ JSON ที่อ่านง่ายออกมา แค่นั้นเลย มันทำให้การทำงานเราเร็วขึ้นเยอะมาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ล่นเวลาการมานั่งเปิดโปรแกรมสารพัด
tmux
brew install tmux
tmux เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่เราน่าจะใช้งานทุกวันเลยก็ว่าได้ มันเป็นโปรแกรมที่ทำให้เราสามารถสลับหน้าต่าง Terminal ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราใช้งานอย่างคล่อง มันทำให้เราแทบจะเป็นเทวหัตถ์แห่ง Terminal เลยก็ว่าได้
เราพึ่งเขียนวิธีการใช้งาน tmux ไปก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าอยากดูเทพโคตร ๆ ลองกลับไปอ่านได้
สรุป
และทั้ง 5 Homebrew Packages ที่เราเอามาเล่าในวันนี้เป็น Package ที่เราใช้งานทุกวันจริง ๆ แต่เอาเข้าจริง มันยังมี Packages อื่น ๆ ที่เราไม่พูดถึงอีกมากมาย ตั้งแต่เครื่องมือที่ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น จนไปถึงเครื่องมือปรับแต่งแปลก ๆ อีกมากมาย หรือกระทั่งสามารถติดตั้ง Desktop Application ผ่าน Cask เลยก็ได้เหมือนกัน และอีกจุดที่เราชอบคือ บน macOS เรามี Homebrew บน Linux นางก็มี LinuxBrew เหมือนกัน วิธีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกันหมด และ Package ส่วนใหญ่ ก็จะสามารถรันได้ทั้งบน macOS และ Linux ไปเลย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เราทำงานทั้ง macOS และ Linus ได้ โดยรวม เราแนะนำให้ติดตั้ง Homebrew มาก ๆ เป็น Package Manager ที่ดีมาก ๆ และมี Package เยอะอีกด้วย ไปลองดูกันได้ ถ้าเจออะไรแปลก ๆ มาบอกกันด้วยนะ