1 ปีกับ Solar Roof ใช้งานเป็นยังไง ? ได้ไฟเท่าไหร่ ?

เราติดค้างมาหลายเดือนแล้วว่าจะมารีวิวว่า หลังจากติด Solar Cell ไป 1 ปี มันเป็นอย่างไรบ้าง มันผลิตไฟได้มากขนาดไหน และเราจะมาลองดูว่ามันลดค่าไฟได้จริงมั้ย เอาบิลค่าไฟมาดูกันเลย

รีวิวเจาะลึกการติดตั้ง On-Grid Solar Cell คุ้มจริงรึเปล่า เสียเงินเท่าไหร่ เขาทำอะไรบ้าง ?
ช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมาปวดหัวอยู่กับเรื่องการติด Solar Cell ที่บ้าน วันนี้เสร็จแล้ว และใช้งานไปพอสมควรแล้ว ก็ได้เวลาเอามารีวิวแบบเจาะลึกกัน

Solar Cell ที่ติดตั้งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5.5 kWp หรือก็คือ สูงสุดที่ 5,500 W ด้วยกัน ในระบบประกอบด้วยแผง Solar Cell จำนวน 20 แผง ถ้าใครที่ติดมาก่อนจะรู้ว่า 20 แผงมันเกิน 5.5 kWp แน่ ๆ มันจะตกที่ 6-7 kWp เลย แต่ที่ทางผู้ติดตั้งเพิ่มให้เพราะ ทิศที่เราติดคือ ตะวันออก ตะวันตก และ เหนือ ที่มันไม่ได้รับแสงเยอะ เพราะทิศใต้ที่ได้แสงเยอะ ๆ เราไม่มีพื้นที่หลังคาในทิศนั้น เลยทำให้ต้องเพิ่มแผง เพื่อให้มันได้พื้นที่ในการรับแสงเยอะขึ้น กับ เราจะเสียเปรียบมาก เพราะเราแทบจะใช้แผงได้ทีละครึ่งเท่านั้น ช่วงเช้า เราก็จะใช้แผงฝั่งตะวันออกได้เยอะ แล้วหลังเที่ยงมันก็จะเอนไปทางตะวันตกมากกว่า จะแตกต่างจากบ้านอื่นที่ยกแผงทั้งหมดไว้ในทิศเxtดียวเลย อันนี้จะเป็นข้อเสียของบ้านเรา

ได้ไฟเท่าไหร่ ?

เส้นบาง ๆ ด้านหลังเป็น Trendline เด้อ ที่ดูมีแววว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในความเป็นจริง มันควรจะลดลง เพราะประสิทธิภาพควรจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่อันนี้เราว่าน่าจะเป็นเพราะ เวลามันยังน้อยไปต้องรอดูก่อน

ใน 1 ปีที่ผ่านมา เป๊ะ ๆ เลย เราได้ไฟมาทั้งหมด 6,435.27 kWh ถ้าคิดค่าไฟหน่วยละ 4.1 บาท ก็จะอยู่ที่ประมาณ 26,384 บาทด้วยกัน แต่เราจะคิดแบบนั้นตรง ๆ ไม่ได้ เพราะค่าไฟเราเป็นอัตราก้าวหน้า แต่ก็เอาประมาณคำนวณง่าย ๆ ขำ ๆ ละกัน ทีนี้ถ้าเราดูเป็นเดือน ๆ ไป เราจะเห็นว่า แต่ละเดือน อัตราการผลิตมันจะไม่คงที่นะ โดยเฉพาะช่วงเดือน 10 ของปี 2020 ถึง เดือน 2 ของปี 2021 ที่การผลิตแย่มาก ๆ แล้วอยู่ดี ๆ เดือน 3 โดดขึ้นมา เป็นเพราะ แผงสกปรกมากฝุ่นเกาะค่อนข้างหนา ที่เราไม่ทำความสะอาด เพราะผู้ติดตั้งบอกว่า ให้ล้างปีละครั้ง ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันผ่านมาไม่กี่เดือนเอง แต่พอเราเดินออกไปดูแผงมันก็ขุ่น ๆ เห็นฝุ่นเยอะมาก ๆ แล้วละ แต่นึกว่าไม่น่าจะเยอะอะไร พอล้างไปเท่านั้นแหละ เดือน 3 ก็คือพุ่งทะยานเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ หน้าร้อนมันเป็นช่วงที่โลกเราใกล้พระอาทิตย์มาก ๆ ทำให้ได้ความเข้มค่อนข้างสูง แล้วก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ เดือนนึงไม่ต่ำกว่า 600 หน่วย เป็นตัวเลขที่ถือว่าโอเคละ เพราะเราจะเริ่มกลัว ๆ เมื่อเดือนนึง มันได้ไม่ถึง 500 หน่วยจะเริ่ม เช็คละว่า เอ๋ เดือนนี้มันยังไงนะ

แต่ถ้าไปดูที่ผู้ติดตั้งเราเขียนในใบปริว บอกว่า 5kWp จะผลิตได้ที่ประมาณ 10,800 หน่วยต่อปี ดังนั้น เราผลิตได้จริง ๆ แค่ 59.59% ของที่เขาให้ข้อมูลเรามาเท่านั้น เราไม่รู้นะว่า มันอยู่ในระดับที่รับได้มั้ย แต่เราพอจะเข้าใจว่า การที่หลังคาบ้านเรามันชัน ทำให้การรับแสงทำได้แย่ลงแน่นอน ประกอบกับทิศในการติดตั้งที่น่าจะเรียกว่า หายนะ เกือบที่สุด ก็เลยทำให้พลังงานที่เราได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก แค่ไม่รู้ว่า เท่านี้คือ​โอเค หรือตุย

สังเกตว่าเดือน 8 ของทั้ง 2 ปีจะน้อย นั่นเพราะเราดึงข้อมูลแบบ 1 Year จริง ๆ เลย ทำให้ เดือน 8 มันไม่เต็มเดือน

สิ่งที่สวนทางจากการผลิตโดยสิ้นเชิงเลย น่าจะเป็นการใช้ไฟในบ้านมากกว่า เดิม ๆ เลย ปกติ จะใช้ไฟกันอยู่ 900 หน่วยกว่า ๆ ต่อเดือน จริง ๆ ก่อนหน้านี้ใช้น้อยกว่านี้มาก ๆ เพราะเมื่อก่อน ก็จะประหยัดไฟกันพอตัวเลยละ เช่นถ้าจะเปิดแอร์ เออ ต้องร้อนจริง ๆ ถึงจะเปิด แต่พอมาติด Solar จริง ๆ แล้ว ทำให้นิสัยเสียมาก ๆ เออ นิด ๆ หน่อย ๆ เปิดแล้วอะไรแบบนั้น เลยทำให้ค่าแอร์ก็คือเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ๆ ประมาณ 30 - 35% กว่า ๆ มาจากค่าไฟจากแอร์เลย กระทั่งเว็บที่เรากำลังอ่านอยู่ตอนนี้ Server ก็อาศัยอยู่ในบ้านเช่นกัน รวม ๆ กับเครื่องขุด Crypto เครื่องนึง ก็จะกินไฟอยู่ที่ 30% ของการใช้ไฟทั้งหมดแล้ว ซึ่งเมื่อก่อน Server เราก็ไม่ใหญ่เท่าตอนนี้ เครื่องขุดจริง ๆ มันก็คือ เครื่องคอมสำหรับเล่นเกมที่เมื่อก่อน เล่นเสร็จก็ปิดไม่มีอะไร ตอนนี้เจอทั้งแอร์หนัก ๆ เจอทั้ง Server และเครื่องขุดต่าง ๆ เลยทำให้ค่าไฟมันค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมหาศาลมาก ๆ จนโดดไป 1,000 หน่วย พีคสุดน่าจะเดือน 5 โดดไป 1,600 หน่วยเลย ส่วนนึงที่เยอะ เราต้องเข้าใจด้วยว่า มันเป็นช่วงการแพร่ระบาดของ COVID ด้วย เลยทำให้ ทุกคนก็ต้องอยู่บ้าน ทำให้ใช้ไฟเยอะขึ้นไปอีก ไม่แปลกเท่าไหร่ที่จะเห็นข้อมูลออกมาเป็บแบบนี้

ดูถ้าทางแนวโน้มการใช้พลังงานในบ้านเราก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เลย เพราะมีอุปกรณ์ในบ้านเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก พร้อมกับการอยู่บ้านตลอด WFH ด้วย ก็เลยทำให้ค่าไฟมันเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวอยู่แล้ว ต้องมารอดูว่า หลังจาก COVID ที่เรากลับไปทำงานในออฟฟิศได้ ค่าไฟมันจะเหลือเท่าไหร่กันแน่ ฮ่า ๆ

นอกจากนั้นแล้ว เรายังไม่เอาข้อมูลก่อนที่จะมี Solar Cell มาเปรียบเทียบด้วย เพราะลักษณะการใช้ไฟมันต่างกันมาก ๆ ปีก่อน ถ้าเราจำกันได้ก็คือ Full Lockdown ไปทำให้เราอยู่บ้านกันหมด เลยทำให้เราใช้ไฟกันรัว ๆ มาก ๆ แต่ ตอนนี้มันก็คลายแล้ว เลยทำให้เราอยู่บ้านน้อยลงด้วย สถานการณ์มันต่างกัน ไว้ ปีที่ 3-4 ถ้าสถานการณ์มันกลับมาเป็นปกติแล้ว เดี๋ยวเราลองเอามาเทียบกันดูได้

ประหยัดค่าไฟไปกี่บาท ? และ ROI ที่กี่ปี ?

ก่อนหน้านี้เราบอกว่า เราลองคิดขำ ๆ เอาหน่วยไฟที่ผลิตได้คูณกับราคาต่อหน่วยเลย คือ 4.1 บาท 1 ปีที่ผ่านมา เราก็จะประหยัดเงินไป 26,000 กว่าบาท เราลองมาคิดจริง ๆ กันเลยดีกว่าประหยัดเท่าไหร่ เรารู้ว่า ราคาบิลที่การไฟฟ้าเอามาเสียบไว้หน้าบ้านมันเป็น Net Energy ที่เอาไฟที่ใช้หักกับไฟที่ผลิตได้ไปแล้ว ถ้าเราอยากรู้ว่าเราลดไปจริง ๆ เท่าไหร่ เราก็เอาหน่วยไฟก่อนหัก Solar Cell ไปคำนวณหาก่อนว่ากี่บาท แล้วเอามาลบกัน เราก็จะได้เงินที่เราประหยัดไปต่อเดือนออกมาของจริงเลย ซึ่งเราอยู่ต่างจังหวัดอยู่ในความรับผิดชอบของ PEA ที่ในเว็บเขามี ระบบประมาณค่าไฟ ให้เราใส่หน่วยไฟ แล้วมันจะคำนวณมาให้เลยแบบเสร็จ ซึ่งทั้งหมด เราก็จะประหยัดไปที่ 30,664.09 ที่ถือว่า โอเคนะ ใช้ได้เลย ปีนึงประหยัดไปได้เท่านี้ หรือถ้าคิดเฉลี่ยก็จะประหยัดได้เดือนละ 2358.78 บาทเลย บ้านทั่ว ๆ ไปถ้ามุมดีกว่านี้น่าจะได้มากกว่านี้พอตัวเลย ดังนั้นบ้านที่จะใช้ไซส์นี้จริง ๆ เราว่าเดือนนึงค่าไฟต้องราว ๆ 2500++ เลย

อันนี้ต้องบอกก่อนนะว่า เราคิดในเคสที่เราใช้ไฟเต็มเท่าที่เครื่องผลิตได้ตลอดเวลานะ เพราะปกติแล้วถ้าเราติดตั้งแบบ On-Grid เราจะมีกันย้อน เพื่อควบคุมให้เครื่องผลิตไม่เกินที่เราใช้งานอยู่ ไม่งั้นไฟมันจะไหลย้อนกลับไปใน Grid อันนี้ผิดกฏหมายเด้อ ซึ่งบ้านเราเอง โดยทั่วไปแล้วก็จะใช้ไฟเต็มเรียกได้ว่าแทบจะตลอดเลย ถึงจะบอกว่าโหยยย 5.5 kWp ยังใช้เต็มตลอดได้เหรอ แต่เอาเข้าจริงมันได้ไม่ถึง 5.5 kWp ตลอดหรอก ปีนึงที่ผ่านมาเจอเลขนี้อยู่แค่ อาทิตย์เดียวเองมั้ง ที่เหลือมันก็อยู่ที่ 3-4 kW ซึ่งเราอยู่บ้าน ก็คือ แอร์เปิดหมดทุกเครื่อง กับเครื่องขุดอีก ถึงอยู่แล้วสบาย ๆ เลย เลยคิดแบบนี้ได้

ซึ่งถ้าเราดู Overall ยาว ๆ เลย ตัวแผงเองมันประกันอยู่ที่ 25 ปี โดยที่ประสิทธิภาพจะต้องลดไม่เกิน 20% ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า การลดลงของประสิทธิภาพมันจะลงเป็น Linear เราก็สามารถเอามาหารเพื่อหาความชันได้เลย ก็จะอยู่ที่ 0.8% ต่อปี ถ้าเราใช้สมมุติฐานนี้ในการคิด โดยเอาพลังงานที่ผลิตได้ในปีนี้คิดเป็นประสิทธิภาพ 100% พอปีที่ 25 เราจะผลิตได้ที่ 5,148.22 หน่วยเท่านั้น และในอายุของระบบควรจะผลิตได้อยู่ 144,201.53 หน่วย ถ้าคูณ 4.1 บาทต่อหน่วยเข้าไป ก็ได้มา 591,226.27 บาท อันนี้อาจจะดูคร่าวไปนิด

งั้นเราลองเปลี่ยน เราตั้งสมมุติฐานว่า เงินที่ประหยัดได้จะลดลงตามประสิทธิภาพของแผงละกัน และ ประสิทธิภาพของแผงลดลงเป็นแบบ Linear โดยที่ปีแรก 100% ประหยัดที่ 30,664.09 บาท ทำให้ในปีที่ 25 เราจะประหยัดที่ 24,531.27 บาท และการประหยัดตลอดการใช้งานที่ 687,120.92 บาทด้วยกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการติดตั้งอยู่ที่ 239,000 บาท ทำให้ ROI อยู่ที่ 8-9 ปี รวมค่าล้างแผงทั้งอายุ เราก็ว่าอยู่ที่ 9 ปีก็จะคืนทุนแล้ว นั่นทำให้กำไรในการใช้ทั้งระบบเป็นเวลา 25 ปีหักค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 421,937.88 บาทด้วยกัน ก็โอเคอยู่นะ อันนี้เรายังไม่ได้คิดเรื่องค่าไฟที่ราคาแพงขึ้นนะ คิดแค่ว่า ค่าไฟเท่าเดิมตลอด 25 ปี ทำให้ตัวเลขนี้เรา Underestimate ไปพอสมควร

ใช้มา 1 ปีมีปัญหาอะไรบ้าง ?

ปีที่ผ่านมา ถามว่าเจอปัญหามั้ย มันก็มีบ้าง ที่อยู่ดี ๆ Inverter ก็ไม่ผลิตไฟเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็โทรแจ้งเข้าที่บริษัทที่ติดตั้งให้เราคือ Asolar ก็แน่นอนว่า กว่าจะมาได้ ก็ต้องใช้เวลาเป็นวันเลย ถ้าดูตาม Data ปัญหามันเกิดช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 12 Feb 2021 และปัญหาถูกแก้ กลับมาผลิตไฟได้เหมือนเดิมช่วงบ่ายของวันที่ 17 Feb 2021 ใช้เวลาติดต่อจนถึงแก้ปัญหาเสร็จก็ประมาณ 4-5 วันได้ ไม่รู้นะว่าเจ้าอื่นในไทยช้าหรือเร็ว แต่สำหรับเรา เรามองว่า การ Support ใช้เวลานานมาก ๆ เลย และการติดต่อที่น่าปวดหัวมาก ๆ ไม่อยากติดต่อเลย ถ้าไม่จำเป็น เพราะคุยทีไร ปวดหัวทุกครั้ง และใช้เวลานานมาก ๆ

การใช้งาน Solar Cell ตัวอายุของมันอยู่ที่ 25 ปี มันเป็นช่วงเวลาที่นานมาก ๆ เลย ดังนั้น การที่จะเลือกบริษัทที่ติดตั้ง เราควรเลือกบริษัทที่มีความมั่นคงอยู่ได้ถึง 25 ปีนานพอที่จะ Support เรา และ การติดต่อแจ้งปัญหา บริการหลังการขายต่าง ๆ ควรจะง่ายต่อการติดต่อ ไม่งั้นเราว่าประสาทแดกได้เลยละ

เราจะต้อง Maintenance ยังไงบ้าง ?

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรมันเลย ก็คือปล่อยมันผลิตไฟไปเรื่อย ๆ เลย แค่เราต้องคอยดูระบบว่ามันมีอะไรผิดปกติมั้ย มีรอยไหม้หรืออะไรที่ระบบมั้ย และตัวแผงเองที่ควรจะหมั่นตรวจสอบว่า มันมีฝุ่นเกาะหนามั้ย เพราะถ้าฝุ่นเกาะหนา ทำให้การผลิตมันทำได้น้อยลงมาก เราเชื่อเลยว่า การที่แผงสกปรกทำให้มันผลิตไฟได้น้อยจริง ๆ เพราะปีที่ผ่านมา เราล้างไป 1 ครั้งด้วยกัน วันก่อนล้าง กับ วันหลังล้าง เราเห็นประสิทธิภาพเลยว่า มันต่างกันพอตัวเลย

ทำให้ค่า Maintenance จริง ๆ แล้วอย่างน้อยที่สุด เราควรจะจ้างเขามาล้างแผง และเช็คระบบปีละครั้ง จะดีมาก โดยที่ Asolar คิดบ้านเราอยู่ที่ 3,000 บาทต่อครั้ง (เข้าใจได้ เพราะบ้านเราอยู่นครปฐม แต่บริษัทเขาอยู่รังสิต ก็คือ คนละด้านของกรุงเทพเลย ไกลจริงอะไรจริง) โดยที่ปีแรกฟรีไป ซึ่งเราใช้ไปแล้ว ทำให้อีก 24 ปีที่เหลือ เราจะมีค่าล้างแผงและเช็คระบบอยู่ที่ 72,000 บาทด้วยกัน

ถ้าถามเราว่า เราควรจะล้างแผงช่วงไหนดี เราว่าจริง ๆ ควรจะล้างช่วงเดือน 2 แถว ๆ นั้นเลย เพราะถ้าเข้าหน้าร้อน มันเป็นช่วงที่เราเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ เราน่าจะได้ไฟเยอะขึ้น ประกอบกับก่อนหน้านั้นมันเป็นฤดูหนาว (ทิพย์) ที่ฝนตกน้อยมาก ระหว่างนั้นฝุ่นก็น่าจะก่อตัวไม่มากก็น้อยแล้ว ล้างช่วงนั้นก็น่าจะพอดีเป็นการรับหน้าร้อนเลย และถ้าเราล้างหลังหน้าร้อนก็ไม่รู้จะล้างทำไม เพราะมันเข้าหน้าฝนแล้ว ฝนก็ตกบ่อย เป็นการล้างแผงคร่าว ๆ ไปในตัวแล้วนั่นเอง

สรุป

การใช้งาน 1 ปีที่ผ่านมา รวม ๆ แล้วเราว่าก็โอเค ปัญหาไม่ได้เยอะมาก แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้นเอง แต่ความสามารถในการผลิต เราว่ามันได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปหน่อย ทำให้เราใช้เวลาในการคืนทุนที่นานขึ้นเป็น 9 ปีเลย จากเดิมที่ตอนแรกเราคำนวณไว้ที่ประมาณ 7-8 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะลักษณะ และ ทิศ ของบ้านเรามันถือว่าไม่ได้ดีเลย และถ้าดูจากการใช้งานจริง ๆ และอนาคตของรถไฟฟ้า บ้านเราอาจจะต้องเพิ่มปริมาณแผงสัก 3 kWp เพื่อให้พึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นต้องลองมาดูว่า เมื่อเวลาผ่านไป ปีที่ 2 เราจะได้เท่าไหร่ ปีหน้าเรามาดูกัน